วิศวะมหิดล ผุดแล็บ ซัพพอร์ตนักวิจัย-ผู้ประกอบการ อุปกรณ์การแพทย์

05 ก.พ. 2566 | 18:54 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2566 | 20:09 น.

วิศวะมหิดล ผุดห้องแล็บทดสอบเครื่องมือทางการแพทย์ ครบวงจรของนักวิจัย นวัตกร และผู้ประกอบการ หวังขับเคลื่อนเมดิคัลฮับและอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขึ้นขบวนหนุนไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติหรือเมดิคัลฮับ และพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์หรือผลิตภัณฑ์ เปิด ห้องปฏิบัติการทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพของเครื่องมือทางการแพทย์ ให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์การแพทย์อย่างครบวงจรแก่นักวิจัย นวัตกร และผู้ประกอบการ

วิศวะมหิดล สร้างแล็บทดสอบอุปกรณ์การแพทย์ ซัพพอร์ตนักวิจัย-ผู้ประกอบการ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า  ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ทางด้านการแพทย์ และเป็นอันดับ 6 ของโลกในด้านความมั่นคงทางสุขภาพ สะท้อนถึงศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ และคุณภาพบริการของภาคการแพทย์ไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีนโยบายมุ่งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น ‘ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ’ (Medical Hub) ของภูมิภาคโลก 

แน่นอนว่าการขับเคลื่อนดิจิทัลเฮลท์แคร์ การแพทย์สาธารณสุขและนวัตกรรมเฮลท์เทคของไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากลจำเป็นที่ประเทศเราต้องมีห้องแล็บทดสอบที่ทันสมัยครบครันด้วยเทคโนโลยี การบริหารจัดการ และผู้เชี่ยวชาญตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพื่อยกระดับงานวิจัยพัฒนาและการผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยสู่ระดับสากลผ่านการทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยของอุปกรณ์หรือเวชภัณฑ์

 

ด้านรศ.ดร.นรเศรษฐ์ ณ สงขลา รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแล้วคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บังให้ความสำคัญกับการคิดค้นวิจัยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของวงการสาธารณสุขไทยและประชาคมโลก โดยสร้างห้องปฏิบัติการทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพของเครื่องมือทางการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017 เป็นประโยชน์ยิ่งต่อนักวิจัย นวัตกร วิศวกร และผู้ประกอบการ ในการวิจัยพัฒนาด้านเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงพัฒนาคุณภาพบุคลากรป้อนสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และเฮลท์แคร์ในด้านต่างๆ อาทิ

 1. ใช้เป็นเกณฑ์สำหรับห้องปฏิบัติการทดสอบและห้องปฏิบัติการสอบเทียบ ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าห้องปฏิบัติการมีการดำเนินงานด้านระบบคุณภาพ มีความสามารถทางวิชาการ ผลการทดสอบหรือสอบเทียบที่ออกโดยห้องปฏิบัติการเป็นที่เชื่อถือได้ว่าถูกต้องตามหลักวิชาการ 

2.ใช้เป็นเกณฑ์สำหรับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบของหน่วยรับรอง 

3.ใช้ในการยืนยันและยอมรับความสามารถของห้องปฏิบัติการโดยผู้ใช้บริการห้องปฏิบัติการ หรือองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมาย

สำหรับบริการครบวงจรของห้องปฏิบัติการทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพของเครื่องมือทางการแพทย์นี้ เปิดบริการทดสอบเครื่องมือแพทย์ตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล ได้แก่  

1. Cytotoxicity Testing ทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ 

2. Hemolysis Testing ทดสอบปฏิกริยาที่มีต่อโลหิตการแตกตัวของเม็ดเลือดแดง 

3. Bioburden Testing การทดสอบหาการมีอยู่ของจุลินทรีย์ 

4. Sterility Testing การทดสอบหาความปราศจากเชื้อของอุปกรณ์ หรือตัวอย่าง 

5. Antibacterial Testing การทดสอบวิเคราะห์หาประสิทธิภาพการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์