25 มกราคม 2566 ที่สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยนายเอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ
นายศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ และนางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ร่วมแถลงมาตรการรับมือฝุ่น PM2.5 สูง ใน กทม.ช่วงวันที่ 26-27 ม.ค. 66
นายพรพรหม ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.ร่วมกับกรมอนามัยและกรมควบคุมมลพิษเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ กทม. แบ่งแผนงานออกเป็น 3 ส่วน คือ
การติดตามและแจ้งเตือนโดยการตั้ง War Room แก้ปัญหา PM 2.5 การเปิดทราฟฟี่ฟองดูว์ เพื่อรับแจ้งปัญหาจากประชาชน และการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าเพื่อแจ้งเตือนประชาชนโดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแนะนำการป้องกันสุขภาพให้ประชาชน
รวมถึงการแก้ปัญหาจากต้นตอของฝุ่นละออง PM2.5 เช่น ควันดำจากรถยนต์ การเผาชีวมวลจากการเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วยซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมมือกันอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ร่วมกัน
ด้านนายพันศักดิ์ ผอ.กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การเกิดฝุ่น PM 2.5 เป็นวัฏจักรที่มักเกิดขึ้นในฤดูหนาวซึ่งปีนี้กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามแต่คาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่า ช่วงที่มีปัญหาเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.66 และค่า PM2.5 จะเกินมาตรฐานอีกครั้งในวันที่ 27 ม.ค.66 และจะเกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯ ในวันที่ 1 ก.พ.66
สำหรับปัญหานี้จะอยู่กับเราไปจนถึงเดือน เม.ย.โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ PM2.5 อาจจะรุนแรงขึ้นซึ่งจากสถิติที่ผ่านพบว่า เดือนที่มักจะมีความรุนแรงของ PM 2.5 มากที่สุด คือเดือน ก.พ.66
ขณะที่นายศักดา ผอ.ส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า 2 ปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่น คือ ปัจจัยแรกได้แก่ เพดานลอยตัวของอากาศโดยข้อมูลจากอุตุนิยมวิทยาพบว่า เพดานอากาศต่ำกว่า 500 เมตร ทำให้เกิดสถานการณ์ PM 2.5 เนื่องจากเพดานอากาศจะสูงขึ้นในหน้าร้อนและเพดานอากาศจะต่ำลงในหน้าหนาว และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในช่วงวันที่ 31 ม.ค. ถึง 1 ก.พ. สถานการณ์มีโอกาสรุนแรงเหมือนวันที่ 24 ม.ค.
ด้านนางสาววรนุช รองผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.กล่าวว่า หากค่าฝุ่นเพิ่มสูงขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ 3 ส่วน ได้แก่ เฝ้าระวังและแจ้งเตือน กำจัดต้นตอ ป้องกันและดูแลสุขภาพโดยนำข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและกรมอุตุนิยมวิทยา นำค่าระดับฝุ่นประกอบกับค่าการพยากรณ์ของกรมควบคุมจะได้ข้อมูลสถานการณ์และนำมาใช้ในการวางแผนการทำงานต่อไปจะไปเป็นแผนการ 4 ระดับ
ทั้งนี้ หลังจาก กทม.ได้ตั้งวอร์รูมฝุ่น PM2.5 เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในกรุงเทพฯให้รับมือกับสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพตามที่ กทม.ได้แจ้งประชาชนไปว่า วันที่ 27 ม.ค.นี้ จะมีค่าฝุ่น เกินค่ามาตรฐานเป็นสีส้ม และวันที่ 1 ก.พ. ยอมรับว่า ปีนี้สภาพฝุ่น PM 2.5 หนักและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาเป็นเพราะเพดานการลอยตัวของอากาศใน กทม.ต่ำลงจากอุณหภูมิที่ยังต่ำอยู่อาจส่งผลต่อเนื่องตั้งแต่เดือนก.พ.
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและรอบนอกจะต้องเจอสภาพอากาศในลักษณะนี้อีกแต่ค่าฝุ่นปีนี้จะหนักเป็นช่วงระยะไม่ได้ติดต่อกันหลายวันเหมือนปีที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยหลักของฝุ่นยังมาจากควันดำของรถยนต์ การปล่อยควันเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างต่างๆ และร้านอาหารปิ้งย่างซึ่งตอนนี้ได้เฝ้าระวังและประมวลค่าฝุ่นเป็นรอบ 24 ชม.
ส่วนแนวทางการเฝ้าระวังนั้น กทม.ได้วางแผนไว้ 3 แนวทาง คือ เฝ้าระวังแจ้งเตือน กำจัดต้นตอ และการป้องกัน รวมถึงดูแลสุขภาพ โดยปีนี้กทม.ทำงานเชิงรุกมากขึ้นมีการตรวจควันดำจากรถบรรทุกในพื้นที่ไซด์งานก่อสร้าง รวมถึงจะขอความร่วมมือประชาชนใช้บริการรถสาธารณะให้มากขึ้นโดยเฉพาะในวันที่ 27 ม.ค.และวันที่ 1 ก.พ.นี้ที่ค่าฝุ่นในกรุงเทพจะเป็นสีแดง
สำหรับมาตรการที่จะให้ประชาชน WFH ในวันที่ค่าฝุ่นสูงนั้น กทม.ได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงขอความสมัครใจจากภาคเอกชนซึ่งขณะนี้ มี 11 บริษัทเอกที่สนใจและจะเข้าร่วม WFH กับ กทม. รวมถึงจะแจ้งเตือนขอให้ประชาชนงดออกกำลังกายกลางแจ้ง
ส่วนโรงเรียนขอให้ปิดหน้าต่างและให้โรงเรียนงดทำกิจกรรมนักเรียนนอกอาคาร ขณะที่การสวมใส่หน้ากากอนามัย หากเป็นหน้ากากอนามัยปกติจะป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้น้อย แต่หากเป็นหน้ากาก N95 จะกรองและป้องกันฝุ่นได้มาก
นอกจากนี้ กทม.ยังได้ขยายคลินิกอนามัยเพื่อรองรับผู้ป่วยมีอาการป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ จากเดิม 3 แห่งเป็น 5 แห่ง โดยประชาชนสามารถเข้าใช้บริการได้ทันที