"อหิวาตกโรค" โรคติดต่อระบาด อันตรายถึงชีวิต

25 ม.ค. 2566 | 15:48 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2566 | 15:48 น.

ทำความรู้จัก "อหิวาตกโรค" โรคติดต่อระบาดอันตราย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง

"อหิวาตกโรค" ถูกพูดถึงและได้รับความสนใจเป็นคำที่ถูกค้นหามากที่สุดคำหนึ่งในเวลานี้หลังจากที่ "แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์" ดาราสาวมากฝีมือถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการป่วยดังกล่าว

"ฐานเศรษฐกิจ" พาไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้น ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายเกี่ยวกับอหิวาตกโรค (Cholera) เอาไว้ดังนี้ 


อหิวาตกโรค คือ อะไร

อหิวาตกโรค เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน เริ่มด้วยอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมากโดยไม่มีอาการปวดท้อง บางรายอุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว บางครั้งมีคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว 

สำหรับเชื้อโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง(อหิวาตกโรค) ชนิด El Tor biotype ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ในรายรุนแรงน้อยอาจพบแต่อาการถ่ายเป็นน้ำ พบได้บ่อยในเด็ก

ในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจตายในเวลา 2-3 ชั่วโมง และอัตราป่วยตายสูงมากกว่าร้อยละ 50 แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้องและทันท่วงที อัตราป่วยตายจะลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 1

อหิวาตกโรค เกิดจากอะไร 

อหิวาตกโรค เกิดจากการติดเชื้อ Vibrio cholerae serogroup O(โอ) 1 ซึ่งมี 2 biotypes คือ classical และ El Tor แต่ละ biotype แบ่งออกได้เป็น 3 serotypes คือ 

  • Inaba
  • Ogawa
  • Hikojima 

เชื้อเหล่านี้จะสร้างสารพิษเรียกว่า Cholera toxin ทำให้เกิดอาการป่วยคล้ายกัน ปัจจุบันพบว่า การระบาดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ biotype El Tor เป็นหลักแทบไม่พบ biotype classical เลย 

ในปี พ.ศ. 2535-2536 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ในอินเดียและบังคลาเทศ สาเหตุเกิดจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ คือ Vibrio cholerae O139

โดยที่ครั้งแรกตรวจพบสาเหตุการระบาดจากเชื้อ V. cholerae non O1 ที่ไม่ทำปฏิกิริยากับ V. cholerae antiserun O2-O138 ซึ่งปรกติกลไกก่อโรคจากเชื้อกลุ่มนี้มิได้เกิดจาก Cholera toxin สายพันธุ์ใหม่ที่พบสามารถสร้าง Cholera toxin ได้เหมือน Vibrio cholerae O1 ต่างกันที่โครงสร้าง Lipopolysaccharides (LPS) ที่เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ของเชื้อ

อาการทางคลินิกและลักษณะทางระบาดวิทยาเหมือนกับโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงทุกประการ 

ดังนั้น องค์การอนามัยโลกแนะนำให้รายงานว่า เป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงด้วย สำหรับเชื้อ V. cholerae ในปัจจุบันมีถึง 194 serogroups การรายงานเชื้อที่ไม่ใช่ทั้ง O1 และ O139 ให้เรียกว่า เป็น V. cholerae non O1/non O139 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดอาการกระเพาะและลำไส้อักเสบ เชื้อ V. cholerae non O1/non O139 บาง serotypes อาจผลิต cholera toxin ก่อให้เกิดอาการคล้ายโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงได้ จึงจำเป็นต้องตรวจการสร้างสารพิษชนิดนี้ด้วยเพื่อป้องกันการระบาดใหญ่

วิธีการติดต่อ

ติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อที่มีชีวิตปนอยู่ เชื้อ El Tor สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน การรับประทานอาหารทะเลดิบ หรืออาหารดิบๆ สุกๆ เป็นสาเหตุของการระบาดทั่วไป การติดต่อระหว่างบุคคลสู่บุคคลโดยตรงพบได้น้อยมาก

ระยะฟักตัว

ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง ไปจนถึง 5 วัน เฉลี่ยประมาณ 2-3 วัน

ระยะติดต่อ

ตลอดระยะเวลาที่ตรวจพบเชื้อในอุจจาระซึ่งปกติจะพบเชื้อได้อีก 2-3 วัน หลังจากผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้วแต่บางรายอาจกลายเป็นพาหะต่อไปได้อีกหลายเดือน

การให้ยาปฏิชีวนะ เช่น tetracycline จะช่วยลดระยะเวลาการแพร่เชื้อ ในผู้ใหญ่พบว่า การติดเชื้อเรื้อรังที่ทางเดินน้ำดีอาจเป็นได้นานเป็นปีและร่วมกับมีการปล่อยเชื้อ Vibrio ออกมากับอุจจาระเป็นระยะได้

อย่างไรก็ดี อหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้โดยมีวิธีป้องกัน ดังนี้

1.รักษาสุขอนามัยของตนเอง

หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่ต้องหยิบจับสิ่งของที่ไม่มั่นใจในความสะอาด หรือแม้แต่ก่อนจะหยิบอาหารเข้าปากเพื่อเป็นการชำระล้างเชื้อโรคที่อาจติดอยู่ที่มือ

2.หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือของหมักดอง

รับประทานแต่อาหารที่ผ่านความร้อนจนสุก เลี่ยงของหมักดอง รวมทั้งอาหารที่ทำทิ้งไว้นานแล้ว ดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการต้มจนสุกดีกว่าการดื่มน้ำที่ผ่านเพียงเครื่องกรองอย่างเดียว เพราะเครื่องกรองไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคออกไปได้

3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย

หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หรือของใช้ของผู้ป่วยโดยเด็ดขาด หากต้องสัมผัสจริง ๆ ก็ต้องสวมถุงมือ และถ้าหากเผลอสัมผัสไปโดยไม่ได้ตั้งใจก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน จะลดความเสี่ยงที่จะติดโรคอหิวาตกโรคได้มากขึ้น