ครม.จัดให้ เพิ่มเงิน UCEP ค่าดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

17 ม.ค. 2566 | 16:06 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2566 | 23:22 น.

ครม. เคาะให้เพิ่ม ค่าดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ผ่านค่าธรรมเนียมแพทย์ และปรับรายการยา ลดปัญหาเบิกจ่ายยา

สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) คือ สิทธิการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลใดก็ได้ ที่ใกล้ที่สุดฟรี ไม่เกิน 72 ชั่วโมง จนกว่าผู้ป่วยจะพ้นภาวะวิกฤต และสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย 

อาการที่ได้รับสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต คือ 

  1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
  3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
  4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
  5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
  6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย

ล่าสุด (17 ม.ค. 66) น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ฉบับที่ 4 จำนวน 2 รายการ คือ การจัดทำรายการยา และค่าธรรมเนียมแพทย์ 

การจัดทำรายการยา 

หมวดที่ 3 ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด โดย ปรับจากเดิมที่กำหนดตามชื่อการค้า (Trade name) ของยาทั้งหมด ดำเนินการปรับเป็น 2 ประเภท คือ

  • ประเภทที่ 1 ยาต้นแบบ (Original drug) ให้ระบุในบัญชีแนบท้าย โดยใช้ทั้ง 2 ชื่อ คือ ชื่อสามัญทางยา (Generic name) และชื่อการค้า (Trade name) จำนวน 227 รายการ
  • ประเภทที่ 2 ยาสามัญ (Generic drug) ให้ระบุในบัญชีแนบท้าย โดยใช้เฉพาะชื่อสามัญทางยา (Generic name) เพียงอย่างเดียว จำนวน 1,060 รายการ

โดยเมื่อปรับปรุงแล้ว จะคงเหลือรายการยาในบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP รวมทั้งสิ้น 1,287 รายการ และช่วยแก้ปัญหาการเบิกจ่ายยา เนื่องจากชื่อทางการค้า และชื่อตัวยาสามัญ

ค่าธรรมเนียมแพทย์ 

หมวดที่ 12 ค่าบริการวิชาชีพ 

โดยปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นประมาณ 30% ซึ่งจะส่งผลให้ค่าบริการผู้ป่วย UCEP ในภาพรวมเพิ่มขึ้น 13.5% โดยค่าบริการทางการแพทย์ ได้แก่ ค่าตรวจวินิจฉัยและทำหัตถการโดยแพทย์ เช่น 

  • การเย็บแผลฉีกขาดหรือบาดแผลของหนังศีรษะ ปรับค่าธรรมเนียมจากเดิม 6,000 บาท เป็น 9,000 บาท 
  • การซ่อมแซมหลอดเลือดแดงโป่งพองในสมอง ปรับค่าธรรมเนียมจากเดิม 60,000 บาท เป็น 90,000 บาท 
  • การใส่ท่อช่วยหายใจ ปรับค่าธรรมเนียมจากเดิม 1,500 บาท เป็น 2,250 บาท