โควิด 19 เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 3 ปี แต่สถานการณ์การติดเชื้อดูเหมือนว่าจะยังไม่คลี่คลาย
มีคำถาม และคำตอบเกิดขึ้นมากมาย เนื่องจากโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า
โควิด 19 คำถามที่ถามบ่อย
คำถามที่ถามบ่อย จะขอตอบดังนี้
1.สถานการณ์เป็นอย่างไร?
- สถานการณ์โควิด 19 อยู่ในขาลง และจะลงไปเรื่อยๆ จนถึงเดือนพฤษภาคม เมื่อเข้าฤดูฝนก็จะพบมากขึ้นอีกเป็นระลอกขึ้นมา ทั้งนี้เพราะประชากรไทยติดเชื้อไปมากแล้ว มากกว่า 70% และโรคเข้าสู่ฤดูกาล
2.นักท่องเที่ยวต่างชาติน่ากลัวไหม?
- นักท่องเที่ยวต่างชาติจะนำเชื้อสายพันธุ์ใหม่เข้ามา โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีน และทำให้เกิดการติดเชื้อระลอกใหม่ขึ้นได้ สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่งขณะนี้คือ XBB.1.5 ที่ระบาดมากในอเมริกา และแนวโน้มในยุโรปก่อนที่จะกระจายไปทั่วโลก และเราต้องระวังสายพันธุ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นด้วย
3.การเฝ้าระวังการระบาดจากการท่องเที่ยวทำได้อย่างไร?
- ในทางปฏิบัติ ถ้านักท่องเที่ยวใส่หน้ากากอนามัย ก็จะลดการแพร่กระจาย โดยเฉพาะผู้ที่ป่วย แต่คงจะยากที่จะไปบังคับนักท่องเที่ยว การเฝ้าระวังของเรา และป้องกันตัวเราจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราจำเป็นที่จะต้องตรวจสายพันธุ์จากนักท่องเที่ยวที่มาป่วยที่บ้านเรา หรือมีการสุ่มตรวจด้วยความสมัครใจ รวมทั้งเฝ้าระวังตรวจสายพันธุ์ในผู้ป่วยคนไทยด้วย เพื่อเป็นสัญญาณเตือน
4.ประชากรไทยติดเชื้อไปแล้วเท่าไหร่?
- จากการศึกษาที่ศูนย์ ด้วยการตรวจเลือด 2 โครงการ พบว่าในภาพรวม ติดเชื้อไปแล้วไม่น้อยกว่า 70% โดยในเด็กตั้งแต่อนุบาลขึ้นไปติดเชื้อไปแล้วถึง 80% ผู้ใหญ่ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี ติดเชื้อไปแล้วประมาณ 70% ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ติดเชื้อไปแล้วประมาณ 50% แต่เมื่อตรวจภูมิต้านทานของทุกกลุ่มอายุ พบว่า มากกว่า 96% ตรวจพบภูมิต้านทานแล้ว เกิดจากการฉีดวัคซีนและหรือการติดเชื้อ ภูมิต้านทานที่ตรวจพบเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้โรคลดความรุนแรงลงเมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนมีวัคซีน
5.ประชากรไทยยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่?
- ในกลุ่มเสี่ยงสูง มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนเป็นระยะ โดยเฉพาะที่ฉีด หรือติดเชื้อ นานมาแล้วเกิน 4-6 เดือน ในคนที่ปกติแข็งแรงดี รวมทั้งเด็ก ถ้าเคยฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มมาแล้ว หรือร่วมกับ การติดเชื้อ จะรอไว้ก่อนก็ได้ โดยเฉพาะระยะนี้อยู่ขาลง ถ้าโรคอยู่ในขาขึ้นหรือมีระลอกใหม่ก็ควรจะต้องรีบฉีดวัคซีนกระตุ้น
6.วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน?
- ขณะนี้มีข้อมูลค่อนข้างชัดเจนขึ้นมาก ว่าวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ ไม่ได้ดีไปกว่าวัคซีนเดิมเท่าไหร่ (The New England Journal of Medicine, January 12, 2023) วัคซีนจะยังไปกระตุ้นสายพันธุ์ ดั้งเดิม ระดับภูมิต้านทานเมื่อเปรียบเทียบกับ วัคซีน mRNA ชนิดเดิมในเข็มกระตุ้น กับ 2 สายพันธุ์ จึงไม่ได้แตกต่างกันมาก การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้น 2 สายพันธุ์ เป็นการศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดกระตุ้น (ในอเมริกาตอนนี้ไม่มีวัคซีน mRNA ชนิดสายพันธุ์เดียวแล้ว) พบว่าการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน 2 สายพันธุ์กระตุ้น ทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 30 - 40+% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น (MMWR) ประสิทธิภาพจะลดลงตามระยะเวลา ดังนั้นในกลุ่มเสี่ยง เราจะไม่รอวัคซีน 2 สายพันธุ์ ถ้าถึงเวลาที่ต้องกระตุ้นสามารถกระตุ้นได้เลย
7.หน้ากากอนามัยยังจำเป็นไหม?
- ยังจำเป็นเมื่อเข้าไปอยู่ในที่ปกปิด เช่นในรถไฟฟ้า รถบัส รถเมล์ หรือที่คนหมู่มาก การอยู่กลางแจ้งจะจำเป็นสำหรับ ผู้ที่ป่วยมีโรคทางเดินหายใจ ควรจะใส่ตลอดเวลา เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
8.หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กอนุบาล และประถมยังจำเป็นไหม?
- การดูแลหน้ากากอนามัยของเด็กเล็ก ทำได้ยาก เด็กมักจะใช้มือจับต้องอยู่ตลอด ดังนั้นในเด็กอนุบาลหรือเด็กประถม อาจไม่จำเป็น ควรไปเน้นการป้องกันเรื่องการล้างมือ สุขอนามัย สถานที่เรียนให้สะอาด โดยการหมั่นทำความสะอาดอยู่เป็นนิจ เด็กจำเป็นที่จะต้องมีการเรียนรู้ โดยเฉพาะทางอารมณ์ สีหน้าท่าทาง นอกจากการเรียนรู้ภาษาด้วยการได้ยินอย่างเดียว และเด็กไทยในวัยที่ไปเรียน แล้วติดเชื้อไปแล้วถึงร้อยละ 80 มีภูมิต้านทานเกิดขึ้นจากการติดเชื้อและฉีดวัคซีนแล้ว
9.ลองโควิด และ MISC พบได้บ่อยไหม?
- ลองโควิด เป็นอาการที่เกิดขึ้น และ หลงเหลืออยู่หลังเป็นโควิด ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้สึก เช่นเหนื่อยหายใจลำบาก หัวมึนตื้อ นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่อร่อย พบได้บ่อยในปีแรกๆ ของการระบาดที่โรคมีความรุนแรง และลดลงในปีที่ผ่านมาในยุคของ โอมิครอน ในประชากรไทยที่ติดเชื้อไปแล้วถึง 70% ถ้าไปถามดู ผมเชื่อว่าน้อยมาก ลองถามเพื่อนๆที่เป็นแล้วดู รวมทั้งเด็กด้วย ติดเชื้อไปแล้ว 70% ถ้าพบเยอะการดูแลทางการแพทย์คงยุ่งไปแล้ว ส่วน MISC เป็นปฏิกิริยาของภูมิต้านทานเชิงระบบ พบในระยะที่มีการติดเชื้อ เด็กไทยติดเชื้อไปแล้วถึง 80% จำนวนตัวเลขที่พบ MISC เราก็อยากรู้ตัวเลขที่แน่นอนเหมือนกัน เพื่อจะได้รู้ว่าอัตราการป่วยเป็นเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับผู้ป่วยทั้งหมดที่ติดเชื้อไปแล้ว ในเด็กหลายล้านคน