สิทธิบัตรทอง 30 บาท โรคเฉพาะทางค่าใช้จ่ายสูง รักษาได้ไหม เช็คเลย

26 ธ.ค. 2565 | 11:40 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2565 | 18:45 น.

สิทธิบัตรทอง 30 บาท รักษาได้ตั้งแต่โรคทั่วไป อย่างโรคไข้หวัด ไปจนถึงการรักษาโรคเรื้อรัง หรือโรคเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง ดูตัวอย่างโรค ที่นี่

รู้หรือไม่ "สิทธิบัตรทอง 30 บาท" หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถเข้ารับบริการการตรวจ การวินิจฉัย และการรักษาตั้งแต่โรคทั่วไปอย่างโรคไข้หวัด ไปจนถึงการรักษาโรคเรื้อรัง หรือโรคเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง ก็รักษาฟรี อาทิ

 

  • โรคเบาหวาน 
  • โรคความดันโลหิตสูง 
  • โรคมะเร็ง 
  • โรคไตวายเรื้อรัง 
  • โรคหัวใจ
  •  โรคเอชไอวี 
  • วัณโรค 
  • ฯลฯ

ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในกระบวนการรักษา ไม่ว่าจะเป็นค่ายาและเวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาที่มีค่าใช้จ่ายสูงตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ค่าอาหารและค่าห้องสามัญระหว่างการพักรักษาตัวที่หน่วยบริการ แม้กระทั่งกรณีการจัดการการส่งต่อเพื่อรักษาระหว่างหน่วยบริการก็ครอบคลุมด้วยเช่นกัน

สิทธิบัตรทอง 30 บาท

 

นอกจากนี้ ยังมีบริการทันตกรรมที่ครบวงจรทั้ง อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฟันผุ การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม การเคลือบหลุมร่องฟัน การผ่าฟันคุด ใส่เพดานเทียมเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และการทำฟันปลอมฐานพลาสติก 

 

รวมไปถึง ถ้าใครอยากรับการรักษาแบบการแพทย์แผนไทย ก็สามารถทำได้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยมีบริการดังนี้

 

  • ยาสมุนไพรหรือยาแผนไทย
  • การนวดเพื่อการรักษา
  • ทับหม้อเกลือ ฟื้นฟูสุขภาพแม่หลังคลอด
  • การอบหรือประคบสมุนไพรเพื่อการรักษา 

 

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์เพื่อรองรับในส่วนของคนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ซึ่งมีทั้งกายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน ฟื้นฟูการมองเห็น และรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการ โดยจะเป็นไปตามเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด 

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรรู้ไว้ คือ หากทุกคนไปรับบริการรักษาพยาบาลและได้รับยาจากโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป (มีเตียงนอน 10 เตียงขึ้นไป) จะต้องจ่ายเงินจำนวน 30 บาทต่อครั้ง ยกเว้นบุคคล 20 กลุ่มตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้ที่มีความประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการ 30 บาท สามารถแจ้งความจำนงไม่จ่ายค่าบริการได้ที่หน่วยบริการ

 

มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้างที่ไม่ครอบคลุม 

 

1.เพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 

 

2.การตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

 

3.การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง

 

4.การปลูกถ่ายอวัยวะที่ไม่ปรากฏตามบัญชีแนบท้าย

 

5.การบริการทางการแพทย์อื่น ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนด
 

4 วิธีเช็คสิทธิรักษาพยาบาล 

 

1.โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 2 

 

2.เว็บไซต์สปสช. หรือ คลิกที่นี่

 

3.แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิตนเอง

 

4.ไลน์ สปสช. @nhso หรือ คลิกที่นี่ เลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิ

 

ที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ