WHO เตรียมเปลี่ยนชื่อ "โรคฝีดาษลิง" เป็น MPOX

23 พ.ย. 2565 | 16:25 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2565 | 23:15 น.

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การอนามัยโลก วางแผนเตรียมที่จะเปลี่ยนชื่อ โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็น เอ็มพอกซ์ (MPOX) เพื่อขจัดความเข้าใจผิดที่ว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากลิงเท่านั้น

23 พฤศจิกายน 2565 เว็บไซต์ข่าวโพลิติโค รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังวางแผนที่จะเปลี่ยนชื่อ  Monkeypox หรือ โรคฝีดาษลิง เป็น "เอ็มพอกซ์" (MPOX) เพื่อขจัดความเข้าใจผิดที่ว่าโรคดังกล่าวมีสาเหตุมาจากลิงเท่านั้น

 

โดยแหล่งข่าวระบุว่า WHO จะประกาศการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในวันนี้ (23 พ.ย.) เพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ออกมาเรียกร้องให้ WHO เปลี่ยนชื่อ โรคฝีดาษลิง และส่งสัญญาณว่า รัฐบาลสหรัฐอาจจะกระทำการเพียงฝ่ายเดียว หากองค์กรระดับโลกอย่าง WHO ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ที่มากพอ

 

 

ตามปกติแล้ว WHO จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระดับโลกในประเด็นสาธารณสุข ซึ่งรวมถึงการประกาศมาตรการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับชื่อโรคที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คณะบริหารของประธานาธิบดีไบเดนได้แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับชื่อของ โรคฝีดาษลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนผิวสี และความพยายามเคลื่อนไหวให้มีการเปลี่ยนชื่อโรคใหม่นั้นได้กลายมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการรณรงค์วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง

 

อย่างไรก็ดี ทั้ง WHO และทำเนียบขาวยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับรายงานข่าวของโพลิติโค ก่อนหน้านี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ได้ออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อ โรคฝีดาษลิง เช่นกัน โดยพวกเขากล่าวว่า การเรียกโรคนี้ว่า ฝีดาษลิง นั้นถือเป็นการสร้างความคลุมเครือ และอาจหมิ่นเหม่ที่จะกลายเป็นประเด็นเหยียดเชื้อชาติเกี่ยวกับแอฟริกา รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อการรับมือทั่วโลก

ทั้งนี้ นอกจาก WHO ได้ประกาศให้การระบาดของฝีดาษลิงทั่วโลกเป็นเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่น่ากังวลในระดับนานาชาติแล้ว WHO ยังระบุอย่างชัดเจนว่า ความเสี่ยงของฝีดาษลิงในปัจจุบันนั้นกระจุกตัวในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย การระบาดของโรคฝีดาษลิงทำให้ชุมชนชายรักชายหลายชาติเริ่มตระหนักและวิตกถึงการเลือกปฏิบัติและถูกตีตราทางสังคม (social stigma) ในกลุ่มผู้ป่วยฝีดาษลิงอย่างเลี่ยงไม่ได้