"หม้อหุงข้าวลดน้ำตาล” คืออะไร ลดน้ำตาลตามโฆษณาได้จริงหรือ ?

03 พ.ย. 2565 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2565 | 06:53 น.
9.1 k

"หม้อหุงข้าวลดน้ำตาล” คืออะไร ลดน้ำตาลได้จริงหรือ ? ควรต้องมีไหม สายสุขภาพ ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาล ผู้ป่วยเบาหวาน อ่านทางนี้

สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาล เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน  ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือแม้กระทั่งผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ อาจจะเคยเห็นสิ่งที่เรียกว่า “หม้อหุงข้าวลดน้ำตาล” แต่จะมีประสิทธิภาพตามคำโฆษณาจริงหรือไม่ 

 

เพจเฟสบุ๊ค อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ได้ไขข้อสงสัย เกี่ยวกับ “หม้อหุงข้าวลดน้ำตาล” ว่า

"หม้อหุงข้าวลดน้ำตาล คืออะไร ลดน้ำตาลได้จริงหรือ ?"

ไม่รู้ว่าทำไม แต่มี 4-5 ท่านแล้วที่ส่งคำถามหลังไมค์ มาว่าหม้อหุงข้าวลด
น้ำตาลนั้นดีจริงมั้ย น่าซื้อหรือเปล่า ลดน้ำตาลได้จริงหรือเปล่า ? 

ซึ่งผมมักจะตอบสั้นๆ ไปว่า "ไม่เคยใช้ ไม่เคยซื้อ และไม่ได้ขายด้วยครับ แต่เท่าที่ทราบ หลักการมันเหมือนกับการ "หุงข้าวแบบเช็ดน้ำ" ที่ทำให้แป้งในข้าวสารออกไปกับน้ำข้าว ที่จะทิ้งไป บวกกับการ "นึ่งข้าว" ทำให้แป้งในข้าวมันถูกร่างกายเราย่อยเป็นน้ำตาลได้ยากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น ซึ่งน่าจะเหมาะกับคนที่เป็นเบาหวาน แต่ถ้าเรากินเข้าไปเยอะๆ ก็ได้ปริมาณน้ำตาลเยอะอยู่ดี (ดีสุด ถ้าจะลดน้ำตาล ก็คือไปลดปริมาณข้าวที่กินจะดีกว่าครับ)"

 

โพสต์นี้ เลยจะเขียนลงรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับ "หม้อหุงข้าวลดน้ำตาล" มากขึ้นนะครับ

  • หม้อหุงข้าวลดน้ำตาล ภายนอกก็คล้าย ๆ กับหม้อหุงข้าวทั่วไป แต่ภายในตัวหม้อ จะแยกส่วนของน้ำกับข้าว โดยมีตะแกรงสำหรับใส่ข้าวสาร และมีตัวหม้อที่ใส่น้ำสำหรับต้ม (ไม่เหมือนหม้อหุงข้าวทั่วไป ที่จะใส่ทั้งน้ำและข้าวสารลงไปพร้อมกันในหม้อ)

 

  • เมื่อเริ่มต้นการทำงาน หม้อหุงข้าวจะให้ความร้อนจนน้ำเดือด น้ำที่เดือดขึ้นไปถึงตัวข้าวสารที่ข้างบนตะแกรง จะชะล้างข้าว ทำให้แป้งที่อยู่กับข้าวส่วนหนึ่งไหลผสมกับน้ำลงมาสู่หม้อด้านล่าง 

\"หม้อหุงข้าวลดน้ำตาล” คืออะไร ลดน้ำตาลตามโฆษณาได้จริงหรือ ?

  • จากนั้นเมื่อข้าวเริ่มสุก หม้อหุงข้่าวจะปรับระดับความร้อนให้เกิดเป็นไอน้ำ ที่จะนึ่งให้ข้าวสุกทั่วกัน โดยที่ระดับน้ำในก้นหม้อนั้นจะลดลงเรื่อยๆ ทำให้แป้งที่อยู่ในน้ำไม่กลับขึ้นมาปะปนกับข้าวสุก 

 

  • ด้วยวิธีการหุงข้าวทั้ง 2 วิธีนี้ร่วมกัน ทางผู้ผลิตเชื่อว่าจะสามารถลดระดับของน้ำตาลในข้าวได้ (เช่น อ้างว่าลดระดับน้ำตาลได้ถึง 70 %) แม้ว่าจะยังไม่งานวิจัยที่มายืนยันก็ตาม 

 

  • เวลาที่ในการหุงข้าวด้วยหม้อชนิดนี้ มักจะนานกว่าหม้อหุงข้าวทั่วไป คือโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที (ขณะที่หม้อทั่วไปอาจจะใช้เวลาประมาณ 15-25 นาที) เนื่องจากมีช่วงเวลาในการนึ่งให้ข้าวสุกด้วย

 

  • ส่วนของผลลัพธ์ของข้าวสุกที่ได้นั้น ว่ากันว่า ความนุ่มฟู กลิ่นรสชาติของข้าว ยังคงเหมือนเดิม

 

  • หม้อหุงข้าวแบบนี้ ค่อนข้างจะมุ่งเป้าหมายลูกค้าไปที่กลุ่มคนที่ต้องการลดการบริโภคน้ำตาลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน จึงควรจะต้องเตือนกันด้วยว่า อย่าหวังพึ่งพาแต่หม้อหุงข้าวชนิดนี้ โดยไม่ควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหารตามปรกติที่ควรจะต้องทำ เช่น การเลือกทานอาหารที่คาร์โบไฮเดรต แป้งและน้ำตาล ต่ำ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเส้นเลือด

 

  • อย่างไรก็ตาม วารสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 247 ได้มีบทความเรื่อง "รู้เท่าทันหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล" โดยระบุว่า จากความนิยมหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลในประเทศจีน ทำให้สถาบันอาหารปักกิ่ง ออกมาทำการทดลองว่า หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลสามารถลดน้ำตาลได้ 70 เปอร์เซนต์ จริงหรือไม่ 

 

  • ตามรายงานข่าวในจีน ( https://www.chinanews.com/cj/2020/10-31/9326997.shtml ) พบว่า กระบวนการทำงานของหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลนั้น "ไม่" สามารถที่จะใช้ในการลดน้ำตาลภายในข้าวได้จริง !

 

  • เนื่องจากว่าภายในเมล็ดข้าวนั้นจะประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแป้งถึงร้อยละ 90 ของเมล็ดข้าว และร้อยละ 75 ของข้าวเป็นแป้ง โดยองค์ประกอบของแป้ง เป็นพอลิแซคคาไรด์ที่เกิดจากกลูโคส จำนวนหลายพันโมเลกุลมาต่อกัน มีโครงสร้างเป็นทั้งแบบสายยาวและกิ่งก้านสาขา แป้งมีมากในพืชประเภทเมล็ด เช่น เมล็ดข้าวและพืชที่มีหัวหัว เมื่อแป้งถูกความร้อนจะกลายเป็นเด็กซ์ตริน ซึ่งเป็นสารที่มีรสหวานเล็กน้อย และมีสมบัติเหนียวแบบกาว ถ้ากินมากเกินไป จะทำให้อ้วนได้  ดังนั้น ไม่ว่าจะโดนความร้อน หรือมีการแยกน้ำที่ใช้ในการต้มข้าวออกจากการหุงข้าวก็ตาม ก็ "ไม่" สามารถที่จะทำการลดปริมาณน้ำตาลที่อยู่ภายในข้าวหรือเมล็ดข้าว ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ 

 

  • นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า สถานีโทรทัศน์ของจีนรายงานผลการทดลองเปรียบเทียบ โดยการวัดระดับน้ำตาลภายในเลือดของอาสาสมัคร ที่กินข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวธรรมดา กับ ข้าวที่หุงด้วยเครื่องหุงข้าวลดน้ำตาล พบว่า อาสาสมัครทั้งสองกลุ่ม มีระดับน้ำตาลที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ !

 

  • ที่น่ากังวลกว่านั้น ก็คือ การที่หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลนี้ ใช้วิธีหุงข้าว ด้วยการแยกน้ำออกจากข้าว คล้ายกับการเช็ดข้าวแบบสมัยก่อน ทำให้เสียโอกาสในการรับประทาน "น้ำข้าว" ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญ เช่น โพลิฟีนอล วิตามินบีคอมเพลกซ์ วิตามินอี เป็นต้น  โดยเฉพาะวิตามินบี จะสูญเสียไปได้ง่าย 

ดังนั้น ถ้ากินข้าวที่หุงข้าวแบบทิ้งน้ำข้าวเช่นนี้ เป็นเวลานานๆ ควรจะต้องกินวิตามินรวมเสริม หรือกลุ่มวิตามินบี เพื่อทดแทนวิตามินที่สูญเสียไป 

กล่าวโดย #สรุป คือ แม้ว่าจะมีการเคลมกันถึงประสิทธิผลของหม้อหุงข้าวชนิดนี้ ในการลดน้ำตาลในข้าว แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพดังกล่าวครับ