ตั้งแต่ต.ค.2565 นี้ ไทยประกาศเอาชนะเชื้อโควิด-19 เมื่อลดระดับจากโรคระบาดร้ายแรงลงเหลือ"เฝ้าระวัง"
สงครามโรคระบาดครั้งนี้ มีหลายศึกที่จะยังอยู่ในความทรงจำของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ"ทีมหมอผ่านศึก(โรคระบาด)"ไว้เล่าให้คนรุ่นหลังฟังรวมถึงสมรภูมิรบที่พิษณุโลก
ขณะแนวรบเมืองหลวงเกือบเพลี่ยงพล้ำ เมื่อผู้ติดเชื้อในระลอกกลางปี 2564 ที่พุ่งสูงอย่างก้าวกระโดด จนคนไข้ล้นเตียงในกทม. ด้านญาติพี่น้องในต่างจังหวัดก็ร้อนใจกันมาก
เวลานั้นที่พิษณุโลกยังพอรับไหว จังหวัดพิษณุโลก โดยสสจ.จังหวัด "หมอไกรสุข เพชระบูรณิน" จึงเปิดโครงการ"คนพิดโลก ไม่ทิ้งกัน"ขึ้นมาแบ่งเบา
แนวคิดคือรับคนพิษณุโลกที่ติดเชื้ออยู่ต่างถิ่น กลับบ้านมารักษาตัว โดยจัดระบบรองรับทั้งต้นทางและปลายทาง เปิดให้ผู้ป่วยลงทะเบียนทุกช่องทาง เพื่อจัดคนไข้ให้สอดคล้องกับเตียงและทรัยพากรในพื้นที่
ร่วมมือกับทหารจัดรถไปรับตามจุดที่นัดหมาย เมื่อกลับมาถึงต้องเข้าศูนย์พักคอยเพื่อตรวจคัดกรอง และจำแนกผู้ป่วย ก่อนส่งต่อเข้ารักษาตามระดับความหนักเบา กลุ่มสีแดง เหลือง เขียว ในระบบปิดตลอดสาย งานนี้ต้องทำเป็นรอบ เพราะขนย้ายรอบหนึ่งทีมงานต้องกักตัวกักรถให้ครบตามเกณฑ์กำหนด แต่ก็พากลับมารักษาที่บ้านได้นับพันคน
ไม่นับภารกิจที่ต้องผนึกความร่วมมือทุกฝ่ายทุกระดับ ตรึงแนวรบจนสงบเชื้อโควิด-19 ลงได้ในที่สุด นายแพทย์ไกรสุข พื้นเพชาวเพชรบูรณ์ จบระดับมัธยมที่มงฟอร์ตวิทยาลัย จบปริญญาตรีแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทสาธารณสุขศาสตร์ ม.นเรศวร
เริ่มทำงานเป็นนายแพทย์ 4 ที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ อยู่ที่แม่ฮ่องสอน 7 ปี ก่อนย้ายมาเป็นนายแพทย์ที่เพชรบูรณ์บ้านเกิด จนขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเขาค้อ ต้นปี 2560 เป็นนายแพทย์(ด้านเวชศาสตร์ป้องกัน)สสจ.พิษณุโลก และอีก 6 เดือนกว่าก็ขยับเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (อำนวยการเฉพาะด้าน) สสจ.พะเยา
29 เม.ย. 2563 ย้ายรับตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน(แพทย์) สสจ.พิษณุโลก รับไม้ต่อสู้ศึกโควิดเวฟ 3-4 ที่หนักหน่วงสุด
และเป็นอีกผลงานรางวัล"เลิศรัฐ"สานพลังใจ ร่วมต้านภัยโควิด ปี 2565 นี้