สปสช.เฮ! สภาพัฒน์ จัดเงินกู้ 1.8 หมื่นล้าน จ่ายค่ารักษาโควิด ชงครม.พรุ่งนี้

22 ส.ค. 2565 | 19:32 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2565 | 03:42 น.

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เฮ เลขาฯ สภาพัฒน์ฯ การประชุม ครม. วันพรุ่งนี้ เสนอขออนุมัติวงเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลโควิด-19 ก้อนแรกวงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท ครั้งต่อไปคาดเสนออีกหมื่นล้าน คาดทำให้วงเงินกู้เหลือสำรองเกือบหมดแล้ว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามพ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม. วันพรุ่งนี้ สศช.จะเสนอขออนุมัติวงเงิน จากพ.ร.ก.กู้เงินฯ  จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท

 

ทั้งนี้ในวงเงินดังกล่าวจะใช้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 

ส่วนค่าใช้จ่ายด้านดังกล่าวที่เหลืออีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท สศช. จะจัดทำรายละเอียดเสนอเข้ามาให้ที่ประชุมครม. พิจารณาอีกครั้งในการประชุมครม.วันที่ 30 สิงหาคม 2565 

 

นายดนุชา ระบุว่า วงเงินดังกล่าวหากไม่เพียงพอเพียงพอ อาจต้องให้ สปสช. จัดทำรายละเอียดเสนอขออนุมัติการใช้จ่ายเพิ่มเติมจากงบประมาณประจำปี 2566 ต่อไป 

สำหรับ รายงานรายละเอียดของการใช้จ่ายเงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มีข้อมูลรายละเอียด ล่าสุด ดังนี้ 

  • กรอบวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
  • ดำเนินการไปแล้ว 2,530 โครงการ 
  • วงเงินคงเหลือ 44,180 ล้านบาท 

 
ทั้งนี้แยกเป็นแผนงานด้านต่าง ๆ จำนวน 3 แผนงาน คือ

 

1. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข

  • กรอบวงเงิน 163,679 ล้านบาท
  • ดำเนินการไปแล้ว 37 โครงการ 
  • วงเงินคงเหลือ (ใช้หมดแล้ว)
     

2. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ

  • กรอบวงเงิน 174,042 ล้านบาท
  • ดำเนินการไปแล้ว 30 โครงการ 
  • วงเงินคงเหลือ 8,593 ล้านบาท 

 
3. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

  • กรอบวงเงิน 162,278 ล้านบาท
  • ดำเนินการไปแล้ว 2,463 โครงการ 
  • วงเงินคงเหลือ 35,586 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามหากมีการเสนอขอใช้เงินกู้ เพื่อเป็นการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของสปสช. รวมเป็นเงิน 3 หมื่นกว่าล้านบาทแล้ว จะทำให้วงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ จะเหลือยู่เพียง 1.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น