เปิดตัว "Social Telecare" แพลตฟอร์มใหม่ ประเมินผู้ป่วยทางไกลออนไลน์

22 ส.ค. 2565 | 17:45 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2565 | 00:53 น.

ธรรมศาสตร์ จับมือ สสส. ภาคีเครือข่าย เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ Social Telecare นำร่องโรงพยาบาล 13 แห่งทั่วประเทศ ประเมินผู้ป่วยผ่านออนไลน์ เชื่อมโยงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ- ลดค่าใช้จ่าย-ยกระดับระบบบริการสุขภาพไทย

วันที่ 22 ส.ค. 2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่าย แถลงข่าว โครงการพัฒนาเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมของสหวิชาชีพ เปิดตัวแพลตฟอร์ม Social Telecare สร้างสมรรถนะและเทคนิคการทำงานการดูแลทางสังคมในรูปแบบ Social Telecare Sandbox ในพื้นที่ของตนเอง


รศ.ดร.พิษณุ ตู้จินดา รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยงธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ด้านคุณภาพชีวิต กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สนับสนุนโครงการนี้ เพราะสถานการณ์โควิดในช่วง 1-2 ปีมานี้ มีกลุ่มเปราะบางเกิดขึ้นมาก

 

เราเห็นว่า การให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลกับนักสังคมสงเคราะห์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เขาสามารถใช้ทักษะแก้ปัญหาลดจำนวนกลุ่มเปราะบางลง หากเขาเข้มแข็งก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ สังคมจะได้มีพลังกาย พลังใจ สุขภาพที่ดี  ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำก็จะลดลงด้วย

 

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งพัฒนาสังคม 2 ส่วน คือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและมุ่งให้สังคมยอมรับความหลากหลายหลายด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เปิดตัว \"Social Telecare\" แพลตฟอร์มใหม่ ประเมินผู้ป่วยทางไกลออนไลน์

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. (สำนัก 7) กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของสหวิชาชีพ-นักสังคมสงเคราะห์ ในการสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ และพัฒนานักสังคมสงเคราะห์ให้มีความรู้ มีทักษะการทำงาน สามารถพัฒนากลไกเครือข่ายการดูแลทางสังคมสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง เกิดการนำแพลตฟอร์ม Social Telecare ไปขยายผลในพื้นที่ สนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“สสส. ได้ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของสหวิชาชีพ-นักสังคมสงเคราะห์อย่างต่อเนื่อง นักสังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชน ที่ประสบปัญหาสังคมใช้ศักยภาพและทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เสริมพลังตนเอง เสริมพลังครอบครัว และชุมชน อันเป็นภารกิจที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ปัจจุบัน  ซึ่งต้องได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะการทำงานกับเทคโนโลยี เชื่อมโยงกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  สำหรับโครงการนี้เป็นความร่วมมือของเครือข่าย ในการดำเนินการร่วมกันในยุคที่ต้องใช้ดิจิทัลทำงานกับมนุษย์ เชื่อมั่นว่านักสังคมสงเคราะห์จะสามารถพัฒนาสมรรถนะตนเองได้เป็นอย่างดี” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

เปิดตัว \"Social Telecare\" แพลตฟอร์มใหม่ ประเมินผู้ป่วยทางไกลออนไลน์

ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การดำเนินงานมีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์และทีมสหวิชาชีพ รวมถึงพัฒนาเครื่องมือแพลตฟอร์ม Social Telecare เชื่อมโยงกับทีมหมออนามัย ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับทางสาธารณสุข และต่อยอดเป็นข้อเสนอนโยบายทางสังคมในการดูแลกลุ่มเปราะบาง เชื่อมประสานกับระบบหลักประกันสุขภาพ และระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ให้บริการทางสังคม จะทำให้ลดข้อจำกัดของระบบบริการผ่านทางไกล

 

ขณะนี้ได้มีการอบรมพัฒนาสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์และทีมสุขภาพ อาทิ แพทย์ นักวิชาการ  อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) 2,077 คน ใน 6 หลักสูตร โดยคาดหวังให้นักสังคมสงเคราะห์เข้าใจในเรื่องของการประเมินผู้ป่วยในระบบของ Social Telecare รวมไปถึงจัดทำแผนการดูแลด้านสุขภาวะของผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน ซึ่งจะทำให้ประหยัดทั้งเวลาและทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย  

เปิดตัว \"Social Telecare\" แพลตฟอร์มใหม่ ประเมินผู้ป่วยทางไกลออนไลน์

“โครงการฯ นี้ได้รับความร่วมมือ จากเขตสุขภาพ 13 เขตทั่วประเทศ รวมไปถึงเครือข่ายโรงพยาบาล 89 แห่งทั่วประเทศ ที่อยู่สังกัดของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์  นอกจากนี้เครือข่ายอื่นๆ เช่น เครือข่ายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เครือข่ายนักสังคมสงเคราะห์ท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย  เครือข่ายกระทรวงยุติธรรม และองค์กรพัฒนาเอกชน สำหรับแพลตฟอร์ม Social Telecare มี 23 เครื่องมือการทำงาน โดยแบ่งเป็น 13 แพลตฟอร์มในพื้นที่เขตสุขภาพ 13 เขตทั่วประเทศ และเป็นระบบประเมินผู้ป่วยที่สามารถรายงานผลได้ แบบ Real time มีฟังก์ชันระบบรายงานผล ส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยไปยังสหวิชาชีพ เพื่อให้บริการอย่างครอบคลุม นอกจากใช้ติดต่อภายในเครือข่ายปฐมภูมิแล้ว ยังสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อข้อเสนอเชิงนโยบาย และแก้ปัญหาเชิงระบบต่อไปในอนาคต” ศาสตราจารย์ระพีพรรณ กล่าว

 

อาจารย์วัชระ อมศิริ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า Socail Telelcare เป็นเครื่องมือโซเชียลเพื่อให้นักสังคมสงเคราะห์ได้เห็นข้อมูลต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยง่ายขึ้น เราจะรู้ว่า หน่วยงานไหนสามารถช่วยผู้ป่วยได้ทันท่วงที เช่น ถุงยังชีพ ต้องแจกจุดไหน มีใครประสบปัญหาอะไร หรือจะส่งผู้ป่วยต่อไปยังหน่วยงานใดให้ดูแลต่อเพื่อให้การช่วยเหลือไปเป็นอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ  

 

ทั้งนี้ หากดูข้อมูลเรียลไทม์ปัจจุบัน ในแพลทฟอร์ม Socail Telecare มีผู้ใช้ทั้งหมด 924 คน แยกเป็นผู้ป่วย 700 กว่าราย ที่เหลือ 200 รายเป็นนักสังคมสงเคราะห์ หากเจาะลึกพบว่า ผู้ใช้บริการ 29 % เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ปัญหาที่ต้องการรับความช่วยเหลือเร่งด่วนคือ การเงิน 200 กว่าคนหรือคิดเป็น 80% ส่วนแบบฟอร์มคัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้า พบว่า  12.9 % เริ่มเสี่ยงซึมเศร้า แต่แนวโน้มการฆ่าตัวตายอยู่ระดับปานกลาง ยังไม่พบระดับรุนแรง