โรคฝีดาษลิง หายได้เองหรือไม่ ต้องใช้เวลานานแค่ไหน ที่นี่มีคำตอบ

30 ก.ค. 2565 | 16:45 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2565 | 22:13 น.
1.5 k

โรคฝีดาษลิง แพทย์ เผย ติดจากสัมผัสใกล้ชิดส่วนใหญ่หายได้เองภายใน 4 สัปดาห์ ย้ำชัด ไม่ติดต่อกันได้ง่าย ๆ ต้องสัมผัสใกล้ชิด อย่าตื่นตระหนก

30 กรกฎาคม 2565 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากการที่กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่สอบสวนผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือ โรคฝีดาษลิง ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 2 ของประเทศไทย อาศัยในกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 47 ปี ประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายต่างชาติเริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามตัวประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนพบมีตุ่มหนองตามตัว และที่อวัยวะเพศ โดยผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ส่วนผู้สัมผัสร่วม 10 ราย กรมควบคุมโรคได้มอบให้ทีมสอบสวนโรคโรคติดตามผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานร หรือ โรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (POX Virus) กลุ่มเดียวกับโรคไข้ทรพิษแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า  

สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ค. 65) ผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 20,849 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 74 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป

 

ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก

  • สหรัฐอเมริกา 4,639 ราย
  • สเปน 4,001 ราย
  • เยอรมัน 2,459 ราย
  • สหราชอาณาจักร 2,367 ราย
  • ฝรั่งเศส 978 ราย

 

ส่วนใหญ่เป็นเพศชายเกือบทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิต 5 รายซึ่งอยู่ในแอฟริกาทั้งหมด ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากไข้ทรพิษ พบว่า มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วย  

ด้าน พญ.นฤมล  สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การติดต่อและการแพร่กระจายของโรค พบว่า ส่วนมากติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากตุ่มหนอง สะเก็ดแผล (Contact) ของผู้ป่วย ถ้าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะประชิด เช่น กินข้าวหรือ อยู่ห้องเดียวกัน หรืออาศัยนอนด้วยกัน การแพร่กระจายอาจติดต่อทางฝอยละออง (Droplet) ได้

 

ไวรัสฝีดาษลิง มีเปลือกหุ้ม ธรรมชาติเป็นไวรัสที่ไม่แข็งแรงโดนสบู่ล้างก็ตาย แต่เชื้อจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหรือไม่ ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ จริงๆ ไวรัสตัวนี้ไม่ได้ติดง่ายแต่ก็ไม่ยาก หากใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก็มีโอกาส แต่ถ้าล้างมือบ่อย ๆ ป้องกันตัวเอง สวมหน้ากาก จะลดโอกาสการสัมผัสเชื้อ  ระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยทั่วไปที่     ระยะฟัก อยู่ ระหว่าง 7- 21 วัน แต่บางรายก็มีระยะฟักตัวนานกว่านั้น

 

อาการที่พบในผู้ป่วยฝีดาษวานร นอกจากมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างการ ต่อมน้ำเหลืองโตแล้ว มีรายงานการศึกษาในวารสารทางการแพทย์ พบว่า ผู้ป่วยจะมีผื่นหรือแผลตามผิวหนองหรือเยื่อบุในอวัยวะต่าง ๆ ผื่น ตุ่ม หรือแผลนั้นเกิดที่อวัยวะเพศ 56.3%, บริเวณทวารหนัก 41.6%

 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ หรือ ประมาณ 86% จะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือปวดกล้ามเนื้อ โดยอาการเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนมีผื่น หรือหลังผื่นขึ้นก็ได้ มีผู้ป่วยบางส่วนที่มีผื่น โดยไม่มีอาการร่วมอื่น ๆ เลย อาการผิดปกติอื่นที่พบ คือ ปวดทวารหนัก เจ็บคอ แผลในช่องปาก และองคชาติบวม มีผู้ป่วยถึง 1 ใน 3 ที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย อาการหายได้เองภายในระยะ 2-4 สัปดาห์

 

การรักษาเน้นการรักษาแบบประคับประคอง เป็นการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ ให้ยาลดไข้ ส่วนยารักษาเฉพาะ ยังไม่มียารักษาเฉพาะ มียาที่ใช้รักษาผู้ป่วยไข้ทรพิษ ในต่างประเทศนำมาศึกษาวิจัยในการดูแลผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีอาการรุนแรง

 

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้ร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากสมาคมโรคผิวหนัง สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กและผู้ใหญ่ ราชวิทยาลัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หารือถึงแนวทางการรักษาพยาบาลโรคฝีดาษลิง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565

 

ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วและอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรืออีโอซี (EOC) ระดับกระทรวง เพื่อพิจารณาอนุมัติในวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคมนี้ ดังนั้น ฝีดาษวานร ไม่ติดต่อง่ายต้องสัมผัสใกล้ชิด ส่วนใหญ่หายได้เอง รักษาตามอาการของโรค อย่าตื่นตระหนก