“ฝีดาษลิงในไทย” ป้องกันได้ด้วยวัคซีน? ไทยพัฒนาไปถึงไหนแล้ว

22 ก.ค. 2565 | 09:13 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2565 | 16:30 น.
2.4 k

“ฝีดาษลิงในไทย” พบรายเเรกที่จังหวัดภูเก็ต ถูกระบุว่าป้องกันได้ด้วยวัคซีนไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ เเล้วไทยพัฒนาไปถึงไหนแล้ว

ล่าสุดพบผู้ป่วย “ฝีดาษลิงในไทย” ยืนยันที่จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นรายแรกของประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขระบุว่ามีความพร้อมในการรับมือฝีดาษลิง ทั้งมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค คัดกรองและคัดแยกผู้ป่วยได้เร็ว  ซึ่งในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวในประเด็น สถานการณ์ "โรคฝีดาษวานร" ในประเทศไทย รวมทั้งผลการตรวจสอบวัคซีนฝีดาษ (Smallpox)ขององค์การเภสัชกรรมที่เก็บรักษาไว้ 

สำหรับฝีดาษลิงนั้น ถูกระบุว่าป้องกันได้ด้วยวัคซีน ไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ คำถามที่ตามมาคือแล้ว “วัคซีนฝีดาษลิง” ปัจจุบันมีกี่ชนิด ประสิทธิภาพดีแค่ไหน ไทยพัฒนาไปถึงไหนแล้ว

หากยังจำกันได้  22 พ.ค.2565 ไทยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรณีฝีดาษลิง (Monkeypox) เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ แนวโน้ม พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จัดทำแผนทั้งในระยะยาว ระยะกลาง ในการปรับปรุงกลยุทธ์ และมาตรการให้เหมาะสม โดยในแล็ปในไทยตรวจยืนยันเชื้อได้ ทั้งที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยเทคนิค Real-time  PCR ระยะเวลาการตรวจ 24 - 48 ชั่วโมง และการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ ด้วยเทคนิค DNA sequencing ระยะเวลาการตรวจ 4 - 7 วัน

 

ส่วนการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ "วัคซีนฝีดาษ" หรือ "ไข้ทรพิษ" (smallpox) เพื่อให้การรับรองคุณภาพวัคซีนที่จะนำมาใช้ในการป้องกันโรค  โดยทั่วโลกไม่มีการให้วัคซีนนี้มากว่า 43ปี แล้ว แต่ยังมีการผลิตขึ้นเพื่อป้องกันการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ และป้องกันโรคฝีดาษลิง ซึ่งสหรัฐอเมริกามีวัคซีนฝีดาษคน จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์  ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกาแล้ว

 

ในครั้งนั้นกรมควบคุมโรคระบุว่า การตรวจสอบวัคซีนฝีดาษที่องค์การเภสัชกรรมเก็บรักษาไว้ ว่า เป็นวัคซีนที่เก็บมา 43 ปีในลักษณะผง (Dry freeze) มีประมาณหมื่นโดส โดยปกติจะเก็บไว้เป็นตัวอย่าง ไทยจึงต้องนำมาตรวจสอบ เพื่อให้ทราบว่ามีความปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อน และยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้หรือไม่ เพราะข้อมูลเมื่อปี 2523 ที่หยุดปลูกฝีดาษคน(Smallpox) ระบุว่าป้องกันได้ 85% นั่นเป็นข้อมูลเก่า แต่ฝีดาษตัวปัจจุบันยังไม่มีข้อมูล

 

โดยผลตรวจวัคซีนเบื้องต้นพบว่าเป็นการนำ“เชื้อเป็น” โดยหากเจอคนไข้ในประเทศเมื่อไหร่ จะมีการนำเชื้อปัจจุบันมาเพาะกับภูมิคุ้มกันจากเลือดของคนที่ได้รับวัคซีนเมื่อก่อนปี 2523 มาตรวจดูว่าสู้กับเชื้อได้หรือไม่

 

ก่อนหน้านี้ช่วงที่ฝีดาษลิงระบาดในต่างประเทศ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ระบุว่า ฝีดาษวานร  วัคซีน 3rd generation ใช้สายพันธุ์ Vaccinia มาดัดแปลงพันธุกรรม (Modified Vaccinia Ankara) ผลิตโดย Bavarian Nordic ใช้ชื่อ MVA-BN เป็นไวรัสมีชีวิต ทำให้อ่อนฤทธิ์ ไม่สามารถแบ่งตัวได้ ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง สร้างภูมิต้านทาน ไม่เกิดตุ่มหนอง ประสิทธิภาพ เท่าเทียมกับวัคซีนในอดีต ให้ได้ในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ไม่เป็นข้อห้ามเด็ดขาดในสตรีตั้งครรภ์ (ไวรัสไม่สามารถแบ่งตัวได้) ให้ได้ในแม่ที่กำลังให้นมบุตร  

 

ซึ่งต่างกับวัคซีนใน Generation ที่ 1 และ 2 ที่ใช้ปลูก  วัคซีนนี้ใช้ฉีดใต้ผิวหนัง 2 ครั้งห่างกัน 4 สัปดาห์  ผู้ที่ปลูกฝีมาแล้ว ให้ครั้งเดียว ผู้สัมผัสโรค ให้ภายใน 4 วัน ป้องกันการติดเชื้อได้ หรือลดอาการโรคลง ในยุโรป (Imvanex)  ในอเมริกา (Jynneos)  ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียน มาใช้ในประเทศไทย

 

หมอยงบอกว่า ฝีดาษวานร  2022  ความยุ่งยากในการควบคุมโรค คือ อาการของโรคไม่ได้รุนแรงแบบไข้ทรพิษ ยังไม่มีใครเสียชีวิต  ตุ่มที่ขึ้นก็ไม่ได้มาก 30% เกิดในที่ลับ บริเวณอวัยวะเพศ และถ้าไม่มีอาการมาก หรือตุ่มขึ้นน้อยก็จะไม่ได้พบแพทย์โรคนี้ติดต่อ เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ เพราะมีการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิดไม่มีหลักฐานในการติดต่อจากสัตว์ หรือเดินทางมาจากแอฟริกา เป็นการติดต่อระหว่างคนสู่คน

 

ขณะที่ 5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ ประกอบด้วย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ สมาคมโรคติดเชื้อฯ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กฯ และสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันฯ ประกาศวัคซีนป้องกัน ไทยหยุดให้เกือบ 50 ปี ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีน่าจะมีภูมิฯจากการปลูกฝี แต่ผู้อายุน้อยไม่มี  เพราะปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรค ฝีดาษลิง ที่เฉพาะเจาะจง

 

แต่ควบคุมการระบาดได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้มีการฉีดวัคซีนหรือปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้ง 2 โรค ซึ่งเด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น

 

ทั้งนี้แม้จะไม่มีการฉีดหรือปลูกฝีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เพราะตอนนั้นฝีดาษในคนถูกกำจัดหมดแล้ว เเต่วัคซีนป้องกันฝีดาษก็ยังมีการผลิตอยู่ในบางประเทศ ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจากสหรัฐอเมริกา (FDA) แล้ว มีอยู่ด้วยกัน 2 ตัว  

  1. วัคซีน ACAM2000 ของบริษัท Acambis เป็นวัคซีนรุ่นเก่าที่ใช้มานานแล้ว ในลักษณะการปลูกฝี สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้นานหลายสิบปี
  2. วัคซีน Imvamune (Imvanex หรือ Jynneos) ของบริษัท Bavarian Nordic ประเทศเดนมาร์ก เป็นวัคซีนรุ่นใหม่ซึ่งฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ปัจจุบันได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาฝีดาษในคนในสหภาพยุโรป และยังได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนเพื่อป้องกันควบคุมโรคด้วยตนเองนั้น ก็มีวิธีมาเเนะนำ 

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
  • หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
  •  ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
  • ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค
  • หลังกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ และแยกกักเพื่อมิให้แพร่กระจายเชื้อ