กก.วล. เห็นชอบแผนแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ฉบับที่ 2 ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ

04 ก.พ. 2568 | 20:55 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2568 | 21:05 น.

ฝุ่นพิษPM2.5 ทวีความรุนแรง มีผลต่อสุขภาพของประชาชน กก.วล. เห็นชอบแผนปฎิบัติการ แก้ปัญหาฝุ่นละออง ฉบับที่ 2 ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 – 2570) ระยะ 5 ปีต่อไป

 

สถานการณ์ฝุ่นพิษPM2.5 ทวีความรุนแรงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสุขภาพของประชาชน ล่าสุด นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวานนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2568) นาย ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ในฐานะกรรมการและเลขานุการ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 – 2570) และระยะ 5 ปีต่อไป

มีแนวคิดการพัฒนาระบบบริหารจัดการมลพิษทางอากาศแบบบูรณาการ โดยการป้องกัน ลด และควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด เพื่อให้บุคคล ชุมชน และประชาชนมีสิทธิในอากาศสะอาด มุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดภาคอุตสาหกรรม ภาคคมนาคม ภาคป่าไม้ ภาคเกษตรกรรม ภาคเมือง

แก้ปัญหาฝุ่น

พร้อมสร้างเครื่องมือ  กลไก เทคโนโลยี กฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการจูงใจ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และการบังคับใช้กฎหมาย ครอบคลุมพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และมลพิษข้ามแดน สอดคล้องและรองรับ พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

โดยมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นให้ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5  ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และพื้นที่เผาไหม้ (Burnt scar) ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและประกาศใช้ต่อไป

นอกจากนี้ กก.วล. ได้ให้ความเห็นชอบกับการปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และการกำหนดประเภทและขนาดบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสีย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 55 และมาตรา 69 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ 2535 นางสาวปรีญาพร กล่าว