วาง 6 แนวทางป้องกัน-แก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

24 ก.ย. 2565 | 17:15 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2565 | 02:08 น.

รัฐบาล มุ่งความสำคัญกับแนวทางป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นวาระสำคัญเร่งด่วน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกวัยด้านสุขภาพตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยมีนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ประสานการทำงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

วาง 6 แนวทางป้องกัน-แก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

โดยมียุทธศาสตร์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มวัยด้านสุขภาพ ซึ่งมีการกำหนดนโยบายในการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น และสตรีวัยเจริญพันธุ์ และปัญหาการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยในประเทศไทย

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสม โดยในส่วนของแนวทางการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปัจจุบันมีการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 เช่น 1) การอบรมหลักสูตร I D – Sign เพื่อเป็น “ผู้พิทักษ์สิทธิทางเพศวัยรุ่น” และ “เพื่อนช่วยเพื่อน” 2) โครงการพัฒนาเครือข่ายและขยายผลด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี ผ่านกลไก “ชมรมคบเด็ก... สร้างบ้านอบอุ่น ในโรงเรียน/พื้นที่” และกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ การแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เป็นต้น

สำหรับแนวทางการแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 6 แนวทางประกอบด้วย

 

1) ยกระดับให้เป็นวาระสำคัญเร่งด่วน โดยมีการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กในรูปแบบ Day Care Night Care จำนวน 4 แห่ง ที่ จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต กทม. และพัทยา เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อแม่วัยรุ่น หรือครอบครัวที่ไม่สามารถดูแลบุตรได้

2) ระบบความช่วยเหลือในรูปแบบผู้จัดการรายกรณี Case Manager หรือการจัดการรายกรณี เช่น Child Protect Information System (CPIS) โดยระบบสามารถระบุพื้นที่เกิดเหตุ ภาพถ่าย และติดตามการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานได้ ข้อมูลจะถูกส่งต่อไปยังระบบการจัดการรายกรณี

3) การให้คำปรึกษาทางเลือกที่จะท้องต่อหรือทำแท้ง โดยมีศูนย์รับแจ้งเรื่องราวข่าวสาร และให้คำปรึกษาแนะนำตลอด 24 ชั่วโมง แก่บ้านพักเด็กและครอบครัวที่มีหน้าที่ให้สถานที่พักพิงชั่วคราว

4) การบังคับใช้กฎหมายให้ถูกต้องเหมาะสม โดยดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้วัยรุ่นและประชาชนทั่วไปรับรู้เรื่องกฎหมายและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนครอบครัว การให้คำปรึกษาทางเลือก และยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

5) การปรับปรุงข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์

6) การดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิในระดับชุมชน โดยมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่แม่วัยรุ่นและครอบครัวในด้านสุขภาพกายและจิต และการอบรมเลี้ยงดูเด็ก การให้คำปรึกษา (Counseling) แม่วัยรุ่นและครอบครัวเพื่อให้เกิดการยอมรับในครอบครัวและชุมชน ให้คำแนะนำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือแนะแนวทางการศึกษาต่อสำหรับพ่อแม่วัยรุ่น และประสานส่งต่อด้านการศึกษาตามความสนใจของพ่อแม่วัยรุ่น เป็นต้น

 

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยปัจจุบันสังคมไทยพบปัญหาเด็กที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีจำนวนสูงมากขึ้น อันเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อฝ่ายหญิงที่อยู่ในช่วงวัยเรียน หากตั้งครรภ์ไม่พร้อมจะทำให้เกิดปัญหาหลายประการตามมา

 

โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่ง พม. ได้หารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องตามที่รัฐบาลมอบหมาย รวมทั้งกระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร และสหทัยมูลนิธิแล้ว เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทั้งในระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น เพื่อการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างจริงจังต่อไปในอนาคต” นายอนุชา​ กล่าว