แจ้งเตือนปชช.เฝ้าระวัง น้ำท่วม หลังเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพิ่มการระบายน้ำ

27 ส.ค. 2565 | 18:45 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2565 | 01:45 น.

ปภ. อยุธยา แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ "น้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่ง" หลังเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคมนี้

27 สิงหาคม 2565 นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ด้วยกรมชลประทาน แจ้งสถานการณ์เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงวันที่ 15 - 21 สิงหาคม 2565 โดยมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวตอนบน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565

 

นอกจากนี้ มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะลจีนใต้ตอนบน ในวันที่ 16 สิงหาคม 2565 กับมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ยและประเทศเวียดนามตอนบน ในระยะปลายสัปดาห์ ทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำป่าสักมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ที่สถานี S.33 อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วงเวลา 23.00 - 01.30 น. วัดปริมาณน้ำฝนได้ 159 มิลลิเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประกอบกับลำน้ำสาขาคลองสะดวงใหญ่มีน้ำป่าไหลลงมาสมทบ ส่งผลให้ระดับน้ำที่สถานี TS.2 อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เพิ่มสูงขึ้น ปริมาณน้ำดังกล่าวไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

 

กรมชลประทาน ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะเกิดจากปริมาณฝน ตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) จะมีปริมาณน้ำท่าไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในระหว่างวันที่ 24 - 30 สิงหาคม 2565 รวมจำนวน 133.26 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาตรน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีจำนวน 355 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ และเพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการรองรับน้ำเหนือในช่วงถัดไป

 

กรมชลประทานจะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตราวันละ 34.56 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 43.20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 ซึ่งเมื่อน้ำจำนวนนี้ไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท - ป่าสักแล้วจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในอัตราไม่เกิน 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.00 - 1.50 เมตร

 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิจารณาแล้ว เห็นว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จึงขอให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำป่าสัก อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร กระชังปลา รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด