กอนช.เตือน 6 จังหวัด เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน 26-31 ส.ค.

24 ส.ค. 2565 | 10:02 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2565 | 17:09 น.
605

กอนช.เตือน 6 จังหวัด เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ช่วงวันที่ 26-31 ส.ค. 65 จังหวัดไหนบ้าง เช็คเลย

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศฉบับที่ 33/2565 ลงทันที่ 23 สิงหาคม 2565  เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ระบุว่า

 

ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มีประกาศ ฉบับที่ 31/2565 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 22 – 25 สิงหาคม 2565 กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่ามีฝนตกหนักในลุ่มน้ำชี ในช่วงวันที่ 19 - 22 สิงหาคม 2565 และได้ประเมินคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจะมีระดับน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำชี ไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ และพื้นที่ชุมชน ประมาณ 0.30 – 1.50 เมตร ในช่วงวันที่ 26 - 31 สิงหาคม 2565 จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ดังนี้

กอนช.เตือน 6 จังหวัด เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน 26-31 ส.ค.

 

 

1. จังหวัดมหาสารคาม บริเวณอำเภอกันทรวิชัย และเมืองมหาสารคาม

 

2. จังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณอำเภอกมลาไสย กุฉินารายณ์ ฆ้องชัย และร่องคำ

3. จังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณอำเภอจังหาร เชียงขวัญ ทุ่งเขาหลวง ธวัชบุรี พนมไพร โพธิ์ชัย โพนทอง เมยวดี เสลภูมิ และอาจสามารถ

 

4. จังหวัดยโสธร บริเวณอำเภอค้อวัง คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และเมืองยโสธร

 

5. จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอกันทรารมย์ และยางชุมน้อย

 

6. จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณอำเภอเขื่องใน และเมืองอุบลราชธานี

 

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

 

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

 

2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลาก จากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย รวมทั้งจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี

 

3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

 

4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

 

กอนช.เตือน 6 จังหวัด เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน 26-31 ส.ค.

 

ที่มา : กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ