นายกฯสั่งผู้ว่าฯ เตรียมรับมือ น้ำท่วม 7-9 ส.ค.

08 ส.ค. 2565 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2565 | 17:46 น.

นายกฯ กำชับผู้ว่าฯ-ปภ. เขต เตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงทุกภาคทั่วประเทศ รวมทั้ง กทม. ระหว่าง 7-9 ส.ค.นี้

วันที่ 8 ส.ค. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำของประเทศโดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

 

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จ.หนองคาย (164 มม.) จ.ตราด (146 มม.) และ จ.ลำปาง (88 มม.) แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,566 ล้าน ลบ.ม. (57%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,545 ล้าน ลบ.ม. (57%) เฝ้าระวังน้ำน้อยบริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง) 

พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

โดยกอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำมูล และกรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้สอดคล้องกับคาดการณ์ปริมาณฝนตกหนักในช่วงวันที่ 7-9 ส.ค. จะทำให้เกิดน้ำท่าไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา ประมาณกลางเดือน ส.ค. เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอย่างเหมาะสม 
 

จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อัตราอยู่ระหว่าง 700 – 1,100 ลบ.ม./วินาทีซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำทยอยเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20 - 0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน 
 

ทั้งนี้นายกฯ กำชับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา เตรียมพร้อมป้องกัน รับมือ ลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำจ.อ่างทองและจ.พระนครศรีอยุธยาให้เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.เป็นต้นไป 

 

นายธนกร กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศในช่วงวันที่ 7-8 ส.ค. หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อนในระยะต่อไป และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 10 - 11 ส.ค. โดยไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย โดยกรมอุตุนิยมวิทยามีข้อควรระวัง

 

ในช่วงวันที่ 7-9 ส.ค. ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรเพิ่มความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 9 ส.ค. 

 

นายกฯ กำชับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตให้เฝ้าระวังพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง

 

รวมทั้งพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรงภาคใต้ ตามที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางได้กำหนดไว้ให้เตรียมพร้อมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ 

 

 รวมทั้งลดผลกระทบจากสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมกับเตรียมพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการกำลังพลให้พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยหากประเมินคาดว่าจะเกิดสถานการณ์ หรือสถานการณ์ขยายวงกว้าง

 

ให้มอบหมายบุคลากรชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และประสานด้านข้อมูลกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง

 

 นอกจากนี้นายกฯ เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง