เช็ค 8 วิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์ไฟไหม้ บทเรียนล่าสุดกรณี"เมาท์เทน บี"

05 ส.ค. 2565 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2565 | 16:30 น.
2.5 k

เช็ค 8 วิธี เอาตัวรอดจากสถานการณ์ไฟไหม้ บทเรียนล่าสุด กรณี "ไฟไหม้ผับดัง "เมาท์เท่น บี" (MOUNTAIN B)" ในพื้นที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี

จากเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในหลายครั้งหลายครา จนคร่าชีวิตผู้ประสบเหตุอย่างทุกข์ทรมาน เช่นกรณีล่าสุดที่เกิดไฟไหม้ผับดังในชลบุรี"เมาท์เทน บี" (MOUNTAIN B) จนส่งผลให้ผู้เสียชีวิตแล้วถึง 13 ราย และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก 

 

อ่านเพิ่มเติม  : 

ไฟไหม้เมาท์เท่น บี ผับดังสัตหีบชลบุรี เสียชีวิต 13 ราย เจ็บระนาว

เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต -นักร้องผับดัง ไฟไหม้“เมาท์เท่น บี" (MOUNTAIN B)

 

อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นความรู้เบื้องต้นในเรื่อง “การเอาตัวรอดจากสถานการณ์ไฟไหม้"ในยามคับขัน ข้อมูลจาก อ. นพ.พงศศิษฏ์ สิงหทัศน์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตศัลยกรรม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้

 

  • 1.ตั้งสติแล้วรีบพาตัวเองออกมาจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
  • 2.พยายามหลีกเลี่ยงการสูดควันต่างๆ เข้าไป เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ทั้งยังได้รับสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
  •  3.เอาผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูก หรือหาผ้าห่มชุบน้ำแล้วห่มตัว จากนั้นรีบหาทางออกมาจากที่เกิดเหตุ
  • 4.หากอยู่ในห้อง อย่าเพิ่งรีบเปิดประตู ควรจับประตูก่อนเพื่อดูว่าร้อนหรือไม่ หากรู้สึกร้อนนั่นหมายถึงอาจมีไฟอยู่หลังประตู จึงไม่ควรเปิดเพราะจะทำให้ควันไฟเข้าห้อง ควรหาผ้าหรืออื่น ๆ มาอุดตรงประตู เพื่อป้องกันไม่ให้ควันไฟเข้ามาในห้องได้
  • 5.หากติดอยู่ในห้องพยายามส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เช่น ส่องไฟมือถือออกไปทางหน้าต่าง เพื่อให้ภายนอกรู้ว่ามีคนต้องการความช่วยเหลืออยู่
  • 6.หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์ ควรใช้บันไดหนีไฟแทน
  • 7.หลีกเลี่ยงการวิ่งหนีเข้าจุดอับ
  • 8.ระหว่างหาทางออกจากที่เกิดเหตุ หากมีควันมากพยายามก้มต่ำหรือคลาน เพราะออกซิเจนจะลอยอยู่ที่ต่ำ

 

นอกจากนี้ยังแชร์วิธีการช่วยเหลือผู้อื่นจากสถานการณ์ไฟไหม้ด้วยว่า  หากอยู่ในสถานการณ์คับขันให้รีบพาผู้ประสบภัยออกมาจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด หากเพลิงไหม้สงบลงแล้ว การช่วยเหลือผู้ประสบภัยควรดูแลเรื่องกระดูกต้นคอเป็นหัวใจสำคัญ โดยการขนย้ายด้วยเปลหรือเบาะ อย่าหิ้วแขนหรือยกศีรษะห้อยลงในขณะเคลื่อนย้าย เพราะอาจทำให้กระดูกเคลื่อนได้

สำหรับกรณีที่ผู้ประสบภัยถูกไฟครอกจนเสียหายรุนแรง หลังช่วยเหลือออกจากที่เกิดเหตุได้แล้ว ให้รีบถอดหรือตัดเสื้อผ้าออกจากร่างกายผู้ประสบภัย เพราะเสื้อผ้าจะอมความร้อนเอาไว้มาก แต่อย่าใช้วิธีกระชาก เพราะเนื้อผ้าบางส่วนอาจติดที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกมาด้วย

 

ถอดเครื่องประดับ เช่น นาฬิกาข้อมือ กำไล ต่างหู ออกจากตัวผู้ประสบภัย เพราะของเหล่านี้อมความร้อนจะทำให้เกิดการพอง

 

ใช้น้ำสะอาดอุณหภูมิปกติรดตัวผู้ประสบภัย เพื่อลดความร้อนให้กับร่างกาย ใช้ผ้าชุบน้ำห่มตัวผู้ประสบภัยไว้ก่อน แล้วนำผ้าบางคลุมอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

 

หากที่เกิดเหตุและโรงพยาบาลอยู่ไกลให้ผู้ประสบภัยดื่มน้ำก่อน เพราะผู้ประสบภัยมักจะมีภาวะขาดน้ำ แต่ถ้าโรงพยาบาลอยู่ไม่ไกลจากที่เกิดเหตุมากนักให้รีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด รีบเปิดทางเดินหายใจให้ผู้ประสบภัยหลังนำตัวออกมาจากที่เกิดเหตุ

 

 

ขอบคุณข้อมูล  :  โรงพยาบาลรามาธิบดี

ที่มา : เนชั่นทีวี