ติดเชื้อโควิดจริงรักษานอกโรงพยาบาลกว่า 2 แสนราย ป้องกันได้อย่างไร อ่านเลย

02 ส.ค. 2565 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2565 | 17:50 น.
1.7 k

ติดเชื้อโควิดจริงรักษานอกโรงพยาบาลกว่า 2 แสนราย ป้องกันได้อย่างไร อ่านเลยที่นี่ทีคำตอบ หมอนิธิพัฒน์ชี้อาวุธหลักที่ช่วยปกป้องพลเมืองโลกก่อนติดเชื้อ คือวัคซีนโควิดสำหรับคนทั่วไปและกลุ่มเปราะบาง

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

เลขที่ออกสำหรับผู้ติดเชื้อรักษานอกโรงพยาบาลช่วง 24-30 ก.ค. อยู่ที่ราวสองแสนหนึ่งพันคน ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าราวสามพันคน 

 

นับว่าผลงานช่วยกันควบคุมโรคไม่เลวทีเดียว วันนี้ยอดผู้ป่วยโควิดรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลและผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรงลดลงจากเมื่อวานเล็กน้อย

 

กลับเข้าสู่โหมดเตรียมพร้อมรับมือโควิดกระเพื่อม หลังยุติลงแล้วสำหรับช่วงวันหยุดยาวที่สองของเดือนนี้ 

 

หากการชะลอโรคที่ช่วยกันทำได้ผล เดือนสิงหาคมที่เริ่มต้นวันแรกแล้ว จะได้เดินหน้าเปลี่ยนผ่านโควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นกันต่อไปไม่ให้สะดุด

 

ขณะนี้ทั่วโลกกำลังถูก BA.5 โจมตีหนัก จนบางคนเรียกช่วงนี้ว่าเป็นการระบาดระลอกที่ 7 แล้ว ดังรูป 

อาวุธหลักที่ช่วยปกป้องพลเมืองโลกก่อนติดเชื้อ คือวัคซีนโควิดสำหรับคนทั่วไปและกลุ่มเปราะบาง 

 

และคู่แอนติบอดี้ออกฤทธิ์ยาว เช่น Evusheld ที่บ้านเรามีใช้แล้วสำหรับกลุ่มที่เปราะบางเป็นพิเศษ 

 

ส่วนอาวุธรองที่ช่วยปกป้องพลเมืองกลุ่มเปราะบางหลังติดเชื้อไม่ให้โรคลุกลาม คือยาต้านไวรัสโดยเฉพาะ โมลนูพิราเวียร์ และ แพ็กซ์โลวิด 

 

แต่ยานี้จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อให้ได้เร็วภายใน 5 วันหลังตรวจพบเชื้อหรือหลังเริ่มมีอาการ 

 

สำหรับคนที่กินแพ็กซ์โลวิดครบห้าวันแล้ว มีส่วนน้อยที่กลับมาตรวจเอทีเคเป็นบวกใหม่หลังกลายเป็นลบไปแล้ว 

 

ติดเชื้อโควิดจริงรักษานอกโรงพยาบาลกว่า 2 แสนราย

 

ดังกรณีของประธานาธิบดีไบเดน  ในทางการแพทย์ถือว่าไม่ได้ติดเชื้อใหม่และไม่จำเป็นต้องได้ยาต้านไวรัส

 

แต่ถ้าเป็นได้ควรแยกกักตัวต่อจนผลตรวจเอทีเคกลับเป็นลบใหม่ 

 

ในอเมริกาที่นับว่าเป็นประเทศซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์สูงสุดในโลก แต่ความเท่าเทียมในการเข้าสู่ระบบสุขภาพพื้นฐานแย่เป็นอันดับท้ายๆ ของโลกเช่นกัน การเข้าถึงยาต้านไวรัสโควิดโดยเฉพาะแพ็กซ์โลวิด 

สำหรับกลุ่มคนเปราะบางเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ยังมีข้อติดขัดอยู่มากมาย ทั้งการขาดความตระหนักของประชาชน 

 

การขาดความรู้ความเข้าใจในยานี้ของแพทย์ทั่วไป การไม่มีระบบประเมินผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาแบบทันท่วงที และระบบจ่ายยาและส่งถึงมือผู้ป่วยในชุมชนหรือที่บ้านซึ่งยังขาดประสิทธิภาพ  

 

ที่ผ่านมาทั้งระลอกเดลตาและระลอกโอมิครอนทั้ง BA.5 และ BA.2 ปัญหาการกระจายยาต้านไวรัสโควิดที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางในบ้านเราก็ไม่ต่างกันจากอเมริกา 

 

แม้เราจะรวยน้อยกว่าเขาและหายามาให้ประชาชนได้น้อยกว่าเขา แต่เรามีต้นทุนระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่ดีกว่าเขาหลายเท่า

 

ทว่าด้วยระบบราชการที่งุ่มง่าม มีข้อกำหนดข้อติดขัดเชิงระบบระเบียบมากมาย โดยยังไม่เห็นมีความพยายามเต็มที่เพื่อมุ่งปลดเปลื้องพันธนาการอุปสรรคการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง 

 

จึงมีภาพของผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางหลายราย ที่เข้าถึงยาจำเป็นในการต่อสู้กับโควิดไม่ทันการณ์ ไม่ต่างกับระบบการฉีดวัคซีนโควิดของบ้านเราที่น่าจะซับซ้อนที่สุดประเทศหนึ่งในโลก 

 

หวังว่าช่วงเปลี่ยนผ่านโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นนี้ จะมีการปรับระบบการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิดนอกโรงพยาบาล ให้มีประสิทธิผลสูงและมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม เพื่อสงวนทุกชีวิตของเพื่อนร่วมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด