ทำงานเกินเวลา - ทำงานวันหยุด ค่า OT คิดคำนวณอย่างไร?

18 ก.ค. 2565 | 09:56 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2565 | 17:02 น.
13.6 k

เปิดกฎหมายแรงงานต้องรู้ ! ทำงานล่วงเวลา - ทำงานวันหยุด คิดคำนวณ ค่าโอที (ค่าOT) อย่างไร เกิน 8 ชั่วโมง ต้องคูณด้วย 1.5 เท่า แต่ถ้าล่วงเวลาในวันหยุด ต้องคูณด้วย 3 เท่า น้อยกว่านี้ผิดกฎหมาย ต้องโทษอาญา

18 กรกฎาคม 2565 - เดือนกรกฎาคม ปี 2565 มี วันหยุดต่อเนื่อง ที่ใกล้จะถึง คือ ช่วง 28 -31 กรกฎาคม จากการที่ ครม.ประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันหยุดพิเศษ ประจำปี อย่างไรก็ตาม อาจมีบางบริษัท หรือ บางสาขาอาชีพ จำเป็น ต้องให้พนักงานทำงานในวันหยุด หรือ มีการทำงานล่วงเวลา ซึ่งตาม กฎหมายแรงงาน สิทธิในการได้ค่า OT จะเกิดขึ้นทันที 

 

ล่าสุด เพจกฎหมายแรงงาน โดย รองศาสตราจารย์ ตรีเนตร สาระพงษ์ ได้เขียนข้อมูลให้ความรู้ สำหรับลูกจ้าง เกี่ยวกับ การทำงานในวันหยุด หรือ ทำงานล่วงเวลา จะได้รับอัตราการจ่ายค่า OT อย่างไร ไว้น่าสนใจ ดังนี้ 

ทำงานล่วงเวลา - ทำงานวันหยุด ต้องได้ค่า OT

การทำงานล่วงเวลา คือการทำงานนอกเหนือหรือเกินจากเวลาทำงานปกติ ซึ่งเวลาทำงานปกติส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ 8 ชม หรือนายจ้างบางที่อาจกำหนดให้ทำงานวันละไม่เกิน 12 ชม. แต่ทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมงก็ได้ การทำงานในช่วงเวลาทำงานปกตินี้นายจ้างจะต้อง "จ่ายค่าจ้าง" ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงาน

 

การทำงานนอกเหนือจากเวลาทำงานปกติ เป็นการทำงานล่วงเวลาต้องนำเอาค่าจ้างมาเป็นฐานแล้วคูณด้วย 1.5 เท่า แต่ถ้าการทำงานล่วงเวลานั้นเป็นการล่วงเวลาในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปีจะต้องคูณด้วย 3 เท่า แต่ถ้านายจ้างกำหนดเกณฑ์ในการคูณให้มากกว่าหรือสูงกว่านี้สามารถทำได้

ทำงานเกินเวลา - ทำงานวันหยุด  ค่า OT คิดคำนวณอย่างไร?

ตัวอย่างการคิดค่าโอที (ค่าOT)

ลูกจ้างได้เงินเดือน ๆ ละ 30,000 บาท เวลาทำงานปกติ คือ 8.00 น. ถึง17.00 น. พักเที่ยง 1 ชั่วโมง หากนายจ้างให้ทำงานล่วงเวลาตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึง 22.00 น. การทำงานล่วงเวลานี้ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้าง โดยคูณ 1.5 เท่า (แต่ถ้าล่วงเวลาวันหยุดต้องคูณด้วย 3 เท่า) มีวิธีคำนวณดังนี้

  •  เอาเงินเดือนมาทำให้เป็นค่าจ้างรายวัน คือ 30,000 หาร 30 =ค่าจ้างวันละ 1,000 บาท
  • จากนั้นเอาค่าจ้างรายวันมาทำให้เป็นค่าจ้างรายชั่วโมง คือ ต้องดูว่าทำงานวันละกี่ชั่วโมง จากตัวอย่างนี้ 8 ชั่วโมง หารกับค่าจ้างรายวัน คือ 1,000  บาท =ค่าจ้างชั่วโมงละ 125 บาท
  • เอาค่าจ้างรายชั่วโมง คือ 125 บาทไปคูณด้วยอัตราค่าทำงานล่วงเวลา 1.5 เท่า  =ค่าล่วงเวลาชั่วโมงละ 187.5 บาท
  • จากนั้นก็ดูว่าทำงานล่วงเวลากี่ชั่วโมง จากตัวอย่างนี้ทำงานล่วงเวลา 4 ชั่วโมง ต้องคูณกับค่าทำงานล่วงเวลาต่อชั่วโมง คือ 187.5 บาท =ค่าล่วงเวลาที่ลูกจ้างจะได้รับตามตัวอย่างนี้ คือ 750บาท

 

ข้อสังเกต 

มีงานบางประเภทที่ยกเว้นไม่ได้ค่าล่วงเวลา 1.5 เท่า หรือ 3 เท่าข้างต้น เช่น งาน รปภ. งานอ่านค่าระดับน้ำ งานเฝ่าสถานที่ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ปกติ (เช่น ครูมาเข้าเวรนอนโรงเรียน) เป็นต้น