ผงะ! โอมิครอน BA.2.75 แพร่เชื้อเร็วขึ้น สู้กับภูมิคุ้มกันเก่ง ติดซ้ำได้

17 ก.ค. 2565 | 04:11 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2565 | 05:24 น.
4.7 k

ผงะ! โอมิครอน BA.2.75 แพร่เชื้อเร็วขึ้น สู้กับภูมิคุ้มกันเก่ง ติดซ้ำได้ หมอเฉลิมชัยเผยรายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) , USCDC และ ECDC

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

มาใหม่อีกแล้ว !! ไวรัส BA.2.75 หรือ Centaurus แพร่ได้เร็วขึ้น ความรุนแรงยังสรุปไม่ได้ พบในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก

 

รายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) , USCDC และ ECDC พบตรงกันว่า เกิดไวรัสก่อโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดขึ้นแล้ว คือ BA.2.75 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย (Sub-variant) ของไวรัส Omicron (โอมิครอน)

 

ไวรัสสายพันธุ์ย่อยดังกล่าว เริ่มพบที่ประเทศอินเดียเมื่อพฤษภาคม 2565

 

หลังจากนั้นก็ได้แพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ขณะนี้พบกว่า 10 ประเทศทั่วโลกแล้วได้แก่ สหรัฐอเมริกา (มากกว่า 10 มลรัฐ) แคนาดา อังกฤษ เยอรมัน และออสเตรเลีย เป็นต้น

 

 

สำหรับข้อมูลที่มีจำกัดในเบื้องต้น พอสรุปได้ว่า

 

  • มีความสามารถในการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น จากหลักฐานการพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มในระลอกใหม่ของอินเดีย
  • การบุกรุกตอบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ (Evade Immunity) มีมากขึ้น เก่งขึ้น ทำให้มีผู้ติดเชื้อในผู้ที่เคยฉีดวัคซีนแล้ว หรือเคยติดโควิดมาแล้วติดเชื้อใหม่ซ้ำ
  • ความรุนแรงของโรค ยังสรุปไม่ได้ เนื่องจากข้อมูลยังน้อยเกินไป จะต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม

 

โดยไวรัสดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ส่วน RBD บริเวณหนาม (Spike) ซึ่งในระยะหลัง ไวรัสที่มีการกลายพันธุ์และเป็นปัญหาของโลก ล้วนแต่มีการเปลี่ยนแปลงที่ส่วนหนามทั้งสิ้น

 

โอมิครอน BA.2.75 แพร่เชื้อเร็วขึ้น สู้กับภูมิคุ้มกันเก่ง

 

ECDC ได้จัดให้ ไวรัสใหม่นี้ เป็นไวรัสที่ต้องเฝ้าระวังหรือเฝ้าติดตาม(VUM : Variant Under Monitoring) ซึ่งถ้ามีข้อมูลความรุนแรงหรือการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้น ก็จะยกระดับเป็น VOI : Variant of Interest และ VOC : Variant of Concern ตามลำดับ

 

ในปัจจุบัน มีไวรัสที่ถูกประกาศให้เป็นกลุ่มไวรัสที่น่าห่วงกังวล (VOC) หรือระดับสูงสุด 5 ตัวด้วยกัน ได้แก่ไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า แกมมา  เดลต้า และโอมิครอน
 

แต่ไวรัสโอมิครอนซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักในปัจจุบัน มีลักษณะพิเศษเหนือกว่าไวรัสสายพันธุ์หลักอื่นคือ

 

มีสายพันธุ์ย่อยที่มีความแตกต่างที่เด่นชัดหลายตัวด้วยกัน จนกลายเป็นสายพันธุ์ที่ครองโลกต่อเนื่องกันมา

 

เริ่มตั้งแต่ BA.1 แล้วขยับเปลี่ยนเป็นBA.2 ขณะนี้ก็เป็น BA.5 และในอนาคตไม่แน่ว่าจะเป็น BA.2.75 หรือไม่

 

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ไวรัสก่อโรคโควิดคือ ไวรัสตระกูลโคโรนาอยู่ในลำดับที่ 7 ซึ่งเป็นไวรัสสารพันธุกรรมเดี่ยว

 

จึงทำให้มีการกลายพันธุ์ง่ายและรวดเร็ว นับตั้งแต่พบเคสแรกของโควิดเมื่อ 31 ธันวาคม 2562 จนปัจจุบันนับได้สองปีหกเดือนเศษ

 

เราได้ค้นพบการกลายพันธุ์ของไวรัสดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง นับได้หลายร้อยหลายพันชนิดแล้ว เพราะตลอดความยาวของสารพันธุกรรมเกือบ 30,000 ตำแหน่งนั้น

 

โอมิครอน BA.2.75 แพร่เชื้อเร็วขึ้น สู้กับภูมิคุ้มกันเก่ง

 

ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเพียงบางตำแหน่ง ก็ถือว่าเป็นคนละสายพันธุ์แล้ว
การเปลี่ยนแปลงนั้นเมื่อเกิดขึ้นในตำแหน่งหลัก หรือมีจำนวนตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงมากพอ จนทำให้มีคุณสมบัติแตกต่างอย่างชัดเจน ก็จะตั้งชื่อไวรัสใหม่เป็นสายพันธุ์หลักใหม่ ตามตัวอักษรกรีก

 

แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดเพียงบางตำแหน่ง หรือในตำแหน่งไม่สำคัญที่ชัดเจน ก็จะเรียกเป็นสายพันธุ์ย่อยภายใต้สายพันธุ์หลักเดิม

 

จากข้อมูลตลอดระยะเวลาสองปีครึ่งที่ผ่านมา นักวิชาการและหน่วยงานที่ติดตามเรื่องนี้โดยละเอียด จึงมีความเห็นร่วมกัน ณ ปัจจุบันว่า

 

โอกาสที่โควิดจะยุติการระบาด หรือไม่มีการแพร่ระบาดนั้น ยังดูห่างไกลพอสมควร

 

เพราะไวรัสได้กลายพันธุ์เปลี่ยนแปลง หรือปรับตัวเองตลอดเวลา ทำให้การติดเชื้อตามธรรมชาติแล้วมีภูมิคุ้มกันนั้นไม่สามารถจะป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ รวมทั้งวัคซีนที่เป็นเจนเนอเรชั่นเดิม ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นก็รับมือต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้น้อยลง

 

เป็นเรื่องที่น่ากังวล และจำเป็นจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

การส่งสัญญาณสาธารณะของหน่วยงานรับผิดชอบในประเทศต่างๆ จึงพึงระมัดระวัง ควรส่งสัญญาณที่ถูกต้องแม่นยำและเป็นจริงเท่าที่จำเป็น

 

ไม่ควรคาดการณ์หรือบอกแนวโน้มที่จะเป็นรุนแรงมากขึ้น หรือจะรุนแรงลดลง (เป็นโรคประจำถิ่น) เพราะเมื่อสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ก็จะทำให้สาธารณะขาดความเชื่อถือได้