"พลเอกประวิตร" เตือนนายจ้าง ต้องใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย

09 ก.ค. 2565 | 09:48 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2565 | 16:56 น.

"พลเอกประวิตร"เตือนนายจ้าง รับแรงงานต่างด้าว เข้าทำงานต้องถูกกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างเอง ที่ไม่ต้องหลบซ่อน มีสวัสดิการ สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมและได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายแรงงานไม่ต่างจากคนไทย หากฝ่าฝืนมีโทษปรับและโทษทางอาญา

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการประมงทะเลและกิจการต่อเนื่อง และกิจการบางประเภทที่คนไทยไม่นิยมทำ โดยบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมีประสิทธิภาพ รัดกุม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง/สถานประกอบการ ลดปัจจัยที่ทำให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองมาทำงานอย่างผิดกฎหมายของแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน และป้องกันความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

หลังจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เห็นชอบนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีสถานะไม่ถูกต้อง และประสงค์จะทำงานและมีนายจ้าง สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 66 โดยหากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 68 โดยต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง 

กระทรวงแรงงานได้สำรวจข้อมูลจากนายจ้างสถานประกอบการพบว่ายังมีความต้องการแรงงานประมาณไม่น้อยกว่า 120,000 คน และได้เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา  ที่มีสถานะถูกต้อง ที่ประสงค์จะทำงานต่อไป ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มมติครม. 29 ธ.ค. 63 มติครม. 13 ก.ค. 64 มติครม. 28 ก.ย. 64 จำนวนประมาณ 1,690,000 คน อยู่และทำงานได้ไม่เกิน 13 ก.พ. 68

 

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ปรับมาตรการการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานตาม MoU และการนำแรงงานข้ามชาติสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา เข้ามาทำงานแบบไปกลับ หรือตามฤดูกาล (มาตรา 64) โดยไม่ต้องกักตัว ตามแนวทางของ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยไม่ยุ่งยาก 

ดังนั้น จึงขอย้ำเตือนและขอความร่วมมือนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการที่คิดจ้างแรงงานผิดกฎหมาย ให้คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนในประเทศ ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไม่จ้างแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งกระทรวงแรงงานมีกระบวนการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU อย่างเป็นระบบ

 

รวมทั้งดำเนินมาตรการใช้กำลังแรงงานที่มีอยู่ในประเทศเป็นลำดับแรก มีการวางแผนให้ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวในระบบการทำงานอย่างเพียงพอกับความต้องการ ซึ่งคนต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีในวาระต่าง ๆ หากดำเนินการตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนดจะสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องหลบซ่อน มีสวัสดิการ ได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมและได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายแรงงานไม่ต่างจากคนไทย

 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยนำเข้าแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ มาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU

 

ปัจจุบันมีการยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ (Demand) ตามระบบ MOU จำนวน 6,282 คำร้อง รวมทั้งสิ้น 248,613 คน แยกเป็น สัญชาติกัมพูชา 54,915 คน ลาว 19,909 คน และเมียนมา 173,789 คน ซึ่งแรงงานข้ามชาติทั้ง 3 สัญชาติ มีการทยอยเข้ามาทำงานแล้วอย่างต่อเนื่อง “ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานขอความร่วมมือนายจ้าง/สถานประกอบการให้ความสำคัญกับการใช้แรงงานถูกกฎหมาย โดยกระทรวงแรงงานมีหน้าที่ตรวจสอบ ปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย อัตราโทษของนายจ้าง ที่รับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี อัตราโทษของคนต่างด้าว ที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท ถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี