กอนช. แนะ 12 จังหวัดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 8 – 14 ก.ค.นี้

08 ก.ค. 2565 | 14:50 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2565 | 21:59 น.
1.3 k

สภาพอากาศวันนี้ ไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ กอนช. แนะ 34 อำเภอ ใน 12 จังหวัด เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ช่วง 8-14 กรกฎาคมนี้

8 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาฉบับที่ 1 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ในช่วงวันที่ 9 - 14 กรกฎาคม 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 10 - 12 กรกฎาคม 2565 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน

 

ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

 

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า จะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 8 – 14 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

1.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง

ภาคเหนือ 5 จังหวัด 13 อำเภอ

  • จังหวัดเชียงราย (อ.เชียงของ เทิง เวียงแก่น แม่จัน แม่ฟ้าหลวง และแม่สาย) 
  • จังหวัดเชียงใหม่ (อ.เภออมก๋อย) 
  • จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อ.เมืองแม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง และสบเมย) 
  • จังหวัดตาก (อ.ท่าสองยาง และอุ้มผาง) 
  • จังหวัดน่าน (อ.เฉลิมพระเกียรติ)

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด 3 อำเภอ

  • จังหวัดนครพนม (อ.ธาตุพนม) 
  • จังหวัดมุกดาหาร (อ.หว้านใหญ่ และหนองสูง)

ภาคตะวันออก 5 จังหวัด 18 อำเภอ

  • จังหวัดนครนายก (อ.เมืองนครนายก และปากพลี) 
  • จังหวัดปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี และอ.นาดี) 
  • จังหวัดสระแก้ว (อ.เมืองสระแก้ว) 
  • จังหวัดจันทบุรี (อ.เมืองจันทบุรี แหลมสิงห์ ขลุง ท่าใหม่ มะขาม และนายายอาม) 
  • จังหวัดตราด (อ.เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง เมืองตราด แหลมงอบ คลองใหญ่ และบ่อไร่)

 

2.เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน

  • บริเวณแม่น้ำสายหลักและสาขา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก จันทบุรี และตราด

 

3.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 1 แห่ง

  • อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่

 

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

 

1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

 

2.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งเร่งทำการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

 

4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์