ข่าวปลอม อย่าแชร์ "พบฝีดาษลิงที่เกาะช้าง"

26 พ.ค. 2565 | 16:07 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2565 | 23:13 น.
11.6 k

กรมควบคุมโรค เตือน อย่าแชร์ข้อมูลเท็จ พบฝีดาษลิงที่เกาะช้าง ตรวจสอบแล้ว เป็นโรคมาลาเรีย ด้าน "อนุทิน" หารือ ผอ.ใหญ่ WHO ขอสนับสนุนวัคซีนฝีดาษคน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานข่าว จากที่มีการแชร์ "พบฝีดาษลิงที่เกาะช้าง" ตรวจสอบแล้ว พบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ ความจริงคือ ข่าวการพบโรคมาลาเรีย ที่เกาะช้าง ซึ่งโรคดังกล่าว มีส่วนที่ลิงกับยุงเป็นพาหะ ไม่ใช่โรคฝีดาษลิงแต่อย่างใด

 

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งล่าสุดได้มีการหารือกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ขอสนับสนุนวัคซีนฝีดาษคน เพื่อเตรียมการรองรับกรณีมีการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร เนื่องจากประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น เผย ไทยเป็นแกนหลักของ WHO Biohub และได้ลงนามร่วมองค์การอนามัยโลก เพื่อแบ่งปันเชื้อโควิด - 19 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการวิชาการภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติให้โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยหรือผู้ป่วยต้องสงสัยเดินทางเข้ามา แต่เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงมีการเตรียมพร้อมเฝ้าระวังคัดกรองโรคในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด โดยในการเข้าพบนายเท็ดรอส ได้มีการหารือเพื่อขอรับการสนับสนุนเรื่องวัคซีนฝีดาษคน (Smallpox)จากองค์การอนามัยโลก

ข่าวปลอม อย่าแชร์ \"พบฝีดาษลิงที่เกาะช้าง\"

ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 75 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายอนุทินและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าพบเพื่อแสดงความยินดีกับนายเท็ดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก(Director-General) อีกหนึ่งวาระ และชื่นชมผลงานของนายเท็ดรอส รวมถึงทีมงานจากองค์การอนามัยโลกที่เดินทางมาประเทศไทย เมื่อเดือนเมษายน 2565 เพื่อทำการประเมินความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Preparedness Review) ทำให้ประเทศไทยได้ถอดบทเรียนและแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินงานแก่ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกในการประชุมครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังได้เชิญผู้อำนวยการใหญ่มาร่วมในพิธีเปิดศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่กรุงเทพฯ

 

 

พร้อมกันนี้ ยังร่วมกันเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงการแบ่งปันเชื้อโควิด 19 กับศูนย์กลางทางชีวภาพ องค์การอนามัยโลก (WHO Biohub) ระหว่าง นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ Dr.Jaouad Mahjour ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก โดยประเทศไทยจะเป็นแกนหลัก (Core Group) ของ WHO Biohub ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศเปิดตัว BioHub ในการปิดการประชุม resumed WHA ครั้งที่ 73 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยมีประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และไทย แสดงความพร้อมในการเข้าร่วม