อัพเดท "โรคฝีดาษลิง" ล่าสุด พบป่วยติดเชื้อแล้วใน 15 ประเทศทั่วโลก

24 พ.ค. 2565 | 02:10 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2565 | 08:52 น.
6.5 k

อัพเดทโรคฝีดาษลิง กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์-ลักษณะอาการล่าสุด พบผู้ป่วยติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 15 ประเทศ อาการที่พบมีรอยโรคที่ผิวหนัง เป็นแผลเปื่อย เกิดแผลที่ช่องปาก อวัยวะเพศ และมีไข้   

เกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคฝีดาษลิง เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดเพื่อตรวจจับกลุ่มเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้

พร้อมกันนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นภาพกราฟฟิกพร้อมอัพเดทสถานการณ์โรคฝีดาษลิงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคที่กำลังเกิดขึ้น

ปัจจุบันพบผู้ป่วยยืนยันทั่วโลกแล้วใน 15 ประเทศ 

  • สเปน            92   ราย
  • โปรตุเกส      34   ราย
  • แคนาดา       23   ราย
  • อังกฤษ        21   ราย
  • เบลเยียม       4    ราย
  • สหรัฐอเมริกา 3    ราย
  • เยอรมนี        3    ราย
  • อิตาลี           3    ราย
  • เนเธอร์แลนด์ 2    ราย
  • อิสราเอล       2   ราย
  • ออสเตรเลีย   2   ราย
  • ออสเตรีย      1   ราย
  • สวีเดน          1   ราย
  • กรีซ             1    ราย
  • สวิสเซอร์แลนด์ 1 ราย  

จำแนกตามเพศและช่วงอายุ 

ชาย  อายุระหว่าง 20-59 ปี จำนวน 61 ราย , ไม่ระบุอายุ 51 ราย

หญิง ไม่ระบุอายุ  จำนวน 1 ราย

ชายและหญิง ไม่ระบุอายุ จำนวน 80 ราย

 

กลุ่มอาการ

  • รอยโรคที่ผิวหนัง ลักษณะเป็นแผลเปื่อย     21  ราย
  • แผลที่ช่องปากและอวัยวะเพศ ไข้              17  ราย
  • แผลที่อวัยวะเพศ                                      5    ราย
  • อาการผื่นตุ่มน้ำพองใส                              5    ราย
  • ผื่นแดง                                                    3    ราย
  • ไข้ ผื่นแดง                                               2    ราย
  • ตุ่มที่อวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ     1     ราย
  • กลืนลำบากร่วมกับอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น  1     ราย
  • ไม่ระบุ                                                     138 ราย

รู้จัก โรคฝีดาษลิง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้อธิบายให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงไว้ว่า โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน การพบผู้ป่วยในประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร มักเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศหรือการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ

 

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น

 

รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย

 

การแพร่เชื้อจากคนสู่คน

แม้มีโอกาสน้อยแต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ

 

ระยะฟักตัว

เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน

 

อาการ

เริ่มแรก จะมีไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง

ระยะสุดท้าย ตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10%

 

วิธีป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
  • หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ 
  • หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
  • ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
  • กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน
  • หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจงแต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ดี เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อนจึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

อัพเดท \"โรคฝีดาษลิง\" ล่าสุด พบป่วยติดเชื้อแล้วใน 15 ประเทศทั่วโลก

ที่มา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข