แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่ากทม. 65 ได้ถึงวันไหน ช่องทางใดบ้าง

23 พ.ค. 2565 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2565 | 23:00 น.
1.8 k

เตือน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. รีบแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันนี้ -29 พฤษภาคม 2565 ผ่าน 3 ช่องทาง คลิกที่นี่

คนกรุงเทพได้เห็นโฉมหน้าว่าที่ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่กันไปแล้วโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 8 ได้คะแนนกว่า 1.3 ล้านคะแนนขึ้นแท่นเป็นว่าที่ผู้ว่าฯกทม.คนล่าสุดต่อจากพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ล่าสุดกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ ได้เผยแพร่ข้อมูลย้ำเตือนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในครั้งนี้ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.00 - 17.00 น. 

 

ทั้งนี้ เมื่อนับคะแนนเลือกตั้งแล้วเสร็จทั้ง 50 สำนักงานเขต รวม 6,817 หน่วยเลือกตั้ง ผลการนับคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ก. และผู้ว่าฯ กทม. อย่างไม่เป็นทางการ ในเวลา 01.10 น. ของวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 

โดยผลการนับคะแนนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปรากฎว่า หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดอิสระ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุด จำนวน 1,386,215 คะแนน

 

สำหรับในส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้ออกมาใช้สิทธินั้น หากไม่อยากถูกจำกัดสิทธิสำคัญทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี กำหนดให้ต้องแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 23-29 พฤษภาคม 2565 โดยสามารถแจ้งเหตุได้ 3 ช่องทาง คือ 

1.ทำเป็นหนังสือยื่นด้วยตนเองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นยื่นแทน 

 

2. ทำเป็นหนังสือจัดส่งทางไปรษณีย์ โดยถือเอาวันที่ไปรษณีย์ลงรับเป็นวันแจ้งเหตุฯ 

 

3. แจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th  หรือ www.ect.go.th หรือ แอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อ "การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์"

 

เหตุที่ถือเป็น "เหตุจำเป็น" ที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

1. มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล 

2. เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 

3. เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 

4. เดินทางออกนอกราชอาณาจักร 

5. มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร 

6. ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง 

7. เหตุสุดวิสัยอื่น

 

หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิทางการเมือง ดังนี้

  • ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
  • ไม่สามารถสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
  • ไม่สามารถเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วย การลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  • ไม่สามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
  • ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และ เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

ทั้งนี้ ให้มีกำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง หากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก ให้นับเวลาการจำกัดสิทธิครั้งหลังนี้ โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ และหากกำหนดเวลาการจำกัดสิทธิครั้งก่อนยังเหลืออยู่เท่าใด ให้กำหนดเวลาการจำกัดสิทธินั้นสิ้นสุดลง

แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่ากทม. 65 ได้ถึงวันไหน ช่องทางใดบ้าง