ไขประเด็น 'ฝีดาษลิง' 5 ประเด็นที่เบาใจ 5 ประเด็นที่น่ากังวล

22 พ.ค. 2565 | 12:59 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2565 | 19:59 น.
696

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ Blockdit “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” ระบุว่า วิเคราะห์และรู้จริง เรื่องฝีดาษลิง : 5 ประเด็นที่เบาใจ และ 5 ประเด็นที่น่ากังวล

ฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากไวรัสคนละชนิดกับฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) แต่เป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกัน (Orthopoxvirus)

ไขประเด็น  \'ฝีดาษลิง\'  5 ประเด็นที่เบาใจ  5 ประเด็นที่น่ากังวล

ขณะนี้พบการระบาดเป็นกลุ่มย่อย ใน 12 ประเทศนอกทวีปแอฟริกาได้แก่ สเปน โปรตุเกส อังกฤษ อิตาลี แคนาดา เบลเยียม ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สวีเดน เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อในสัตว์เป็นหลัก มีมาตั้งแต่ปี 2501 พบเฉพาะในทวีปแอฟริกา  โดยเริ่มจากลิงแอฟริกา และต่อมาพบในหนู กระรอก กระต่าย ที่เป็นกลุ่มสัตว์ฟันแทะ

 

พบติดต่อมายังคนนอกทวีปแอฟริกาที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2546 และการระบาดหรือติดเชื้อก็มีประปราย ไม่ได้กว้างขวางทั่วโลก

 

องค์ความรู้เรื่องฝีดาษในคน ได้ลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ เพราะโลกมนุษย์เราได้ช่วยกันระดมปลูกฝีป้องกันฝีดาษหรือไข้ทรพิษ และสามารถกำจัดไข้ทรพิษให้หมดไปจากโลกได้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลองค์ความรู้ทั้งหมดเท่าที่มีอย่างจำกัด พอสรุปได้ว่า

  • 5 ประเด็นที่เบาใจ ได้แก่

 

  1. ไวรัสก่อโรคฝีดาษลิง จะกลายพันธุ์ได้น้อยและไม่บ่อย เพราะเป็นสารพันธุกรรมคู่หรือ DNA แตกต่างจากไวรัสก่อโรคโควิดซึ่งเป็นสารพันธุกรรมเดี่ยวหรือ RN  จะเห็นได้ว่า โควิดผ่านมาสองปี มีการกลายพันธุ์ไปแล้วกว่า 1000 สายพันธุ์  ในขณะที่ฝีดาษลิง มีการติดเชื้อมาแล้ว 50 ปี วันนี้ตรวจพบก็ยังเป็นสายพันธุ์เดิม
  2. ความสามารถของไวรัสในการแพร่ระบาดไม่สูงมากนัก ผ่านมา 50 ปีแล้ว ก็ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยไม่มากนัก
  3. การติดต่อนั้นค่อนข้างลำบาก ต้องเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น สัมผัสผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง สัมผัสสิ่งคัดหลั่ง หรือกรณีไปทานเนื้อสัตว์ดิบที่มีเชื้อ เป็นต้น
  4. วัคซีนและยาที่ใช้กับผู้ติดฝีดาษคน พอจะนำมาใช้กับฝีดาษลิงได้ คาดว่าน่าจะได้ผลในระดับ 85%
  5. ประเทศไทยยังไม่พบเคสฝีดาษลิง

 

  • 5 ประเด็นที่น่ากังวล ได้แก่

 

  1. ในช่วงนี้เกิดมีการระบาดนอกทวีปแอฟริกามากถึง 12 ประเทศ พบผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 100 ราย ทำให้องค์การอนามัยโลกเรียกประชุมด่วนเพื่อพิจารณาเรื่องนี้แล้ว
  2. เริ่มพบข้อเท็จจริงของการติดจากคนสู่คนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรักร่วมเพศ
  3. มีแนวโน้มที่ชวนให้สงสัยว่า ไวรัสอาจติดต่อผ่านทางอากาศได้ (Airborne)บางประเทศเริ่มแนะนำ ให้บุคลากรทางการแพทย์ ระมัดระวังการติดทางอากาศจากผู้ป่วยฝีดาษลิง
  4. วัคซีนที่ใช้เพื่อป้องกันฝีดาษลิงโดยตรง ต้องใช้เวลาในการพัฒนาและผลิตเพื่อให้มีจำนวนเพียงพอในกรณีถ้ามีการระบาดจริง
  5. อัตราการเสียชีวิตของฝีดาษลิง สูงกว่าโควิดประมาณ 10 เท่า คือ 1-10% (อย่างไรก็ตามก็รุนแรงน้อยกว่าฝีดาษคนประมาณ 3-10 เท่า)

 

  • กล่าวโดยสรุป
  1. ฝีดาษลิงเป็นคนละโรคกับฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ
  2. ฝีดาษลิงติดต่อยาก มักเกิดจากการสัมผัสเชื้อโรคโดยตรง ยังไม่มีข้อสรุปว่าติดต่อผ่านทางอากาศได้
  3. ขณะนี้มีการติดฝีดาษลิงไปแล้ว อย่างน้อย 12 ประเทศ
  4. แหล่งของไวรัส ได้แก่ ลิงแอฟริกา หนู กระรอก กระต่าย Prairie Dog
  5. วัคซีนฝีดาษคน น่าจะช่วยป้องกันฝีดาษลิงได้ประมาณ 85%
  6. ยังไม่พบฝีดาษลิงในประเทศไทย