ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. นายกเมืองพัทยา ได้ไหม

21 พ.ค. 2565 | 15:07 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2565 | 22:14 น.

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา 2565 หากใครที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้หรือไม่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กำหนดแนวทางไว้ยังไง ที่นี่มีคำตอบ

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.00 - 17.00 น. สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้หรือไม่ ตรวจสอบรายละเอียดที่นี่ มีคำตอบ

 

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กำหนดแนวทาง ขั้นตอน วิธีการ รวมไปถึงรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ หากผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้หรือไม่นั้น ยืนยันว่า

 

กรณีดังกล่าว สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในหน่วยเลือกตั้ง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามคำแนะนำของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

ทั้งนี้ กกต. ยังกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนี้

  • ตรวจวัดอุณหภูมิ ทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่เข้ามายังหน่วยเลือกตั้ง
  • เตรียมเจลแอลกอฮอล์ เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อตามจุดต่าง ๆ ในที่เลือกตั้ง
  • สวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลาที่อยู่ในทีเลือกตั้ง
  • จัดเตรียมคูหาพิเศษ สำหรับผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส 
  • ประสานงานกับ อสม. เพื่อดูแลความปลอดภัยในที่เลือกตั้ง

 

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในการเลือกตั้ง

 

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 

  • มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
  • และคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

 

ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง

  • บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
  • บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น
  • บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  • ใบขับขี่
  • หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

 

ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง

  • ตรวจสอบรายชื่อ
  • ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง
  • ยื่นหลักฐานแสดงตน 
  • แสดงหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือ บัตรหรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน ต่อ กปน. พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ
  • รับบัตรเลือกตั้ง
  • ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น

 

วิธีทำเครื่องหมายกากบาท เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย ดังนี้

  •  บัตรเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นเลือกผู้สมัครได้หนึ่งคน
  •  บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น เลือกผู้สมัครได้ไม่เกินจำนวนสมาชิกที่แต่ละเขตเลือกตั้งนั้นพึงมี
  • หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด แล้วพับบัตรเลือกตั้ง
  • นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง