เทคนิคฝึกลูกนั่ง"คาร์ซีท - Car Seat" ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ดูที่นี่

19 พ.ค. 2565 | 03:00 น.

ครอบครัวไหนที่กำลังฝึกลูกๆนั่ง"คาร์ซีท - Car Seat" กรมกิจการเด็กและเยาวชน มีเทคนิคฝึกลูกนั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือคาร์ซีทมาฝาก ดูได้ที่นี่

"ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก" หรือคาร์ซีท(Car Seat) กลายเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีติดรถยนต์ หากมีการนำบุตรหลานโดยสารรถยนต์ หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 โดยจะเริ่มบังคับใช้จริงภายหลังประกาศ 120 วัน หรือในวันที่ 5 กันยายน 2565 

 

พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับนี้ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กในมาตรา 123 กรณีที่มีคนโดยสารรถยนต์ เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หรือสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องมี"ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก" หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

 

งานพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ไม่เพียงแต่ต้องจัดซื้อ จัดหาคาร์ซีทมาติดรถยนต์ไว้ อีกปัญหาที่ตามมา คือ การฝึกให้ลูก หลานนั่งคาร์ซีท ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย หากเด็กไม่เคยนั่ง หรือไม่มีความคุ้นเคย

 

กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  มีเทคนิคฝึกลูกนั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือคาร์ซีทมาฝาก ครอบครัวไหนที่กำลังฝึกลูกๆนั่งคาร์ซีทกันอยู่ ลองทำตามดู

เทคนิคฝึกลูกนั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือคาร์ซีท(Car Seat)

 

  1. เลือกคาร์ซีทให้เหมาะสมกับลูก
  2. สร้างความเข้าใจกับลูก เกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือการไม่นั่งคาร์ซีท
  3. ฝึกตอนลูกอารมณ์ดี
  4. ฝึกให้นั่งคาร์ซีทในนระยะทางสั้นๆก่อน
  5. ไม่อุ้มลูกออกจากคาร์ซีทก่อนถึงที่หมาย
  6. สร้างบรรยากาศภายในรถ แขวนตุ๊กตาโมบาย ชวนคุย ร้องเพลง เล่น และเปิดเพลง
  7. ฝึกลูกนั่งคาร์ซีทอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

 

การเลือกที่นั่งนิรภัยที่ปลอดภัยสำหรับเด็กจะต้องคำนึงถึงอะไรกันบ้าง 

 

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า การเลือกที่นั่งนิรภัยที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก มีดังนี้

 

1.ควรจัดให้มี  ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และใช้งานอย่างถูกวิธีตลอดเวลาที่โดยสารรถยนต์  

 

2.เลือกรูปแบบคาร์ซีท และติดตั้งให้เหมาะสมตามช่วงอายุ สรีระ น้ำหนัก ส่วนสูงของเด็ก โดยที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กแรกเกิด-3 ปี ควรใช้คาร์ซีทเป็นที่นั่งแบบปรับให้หันหน้าไปด้านหลังรถ ซึ่งจะปลอดภัยมากที่สุด หรือเด็กที่มีอายุ 2-6 ปี สามารถใช้คาร์ซีทเป็นที่นั่งแบบหันมาด้านหน้าได้  ส่วนเด็กที่เริ่มโต ควรใช้บูสเตอร์ซีท เป็นที่นั่งแบบหันมาด้านหน้าใช้ร่วมกับเข็มขัดนิรภัยปกติ  

 

3.มีมาตรฐานความปลอดภัย จากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ กรณีเลือกใช้ที่นั่งนิรภัยมือสอง ควรสำรวจสภาพไม่มีรอยบุบหรือแตก สายรัดหรือเข็มขัดมีสภาพดี และอายุการใช้งานไม่ควรเกิน 6 ปี  

 

4.อ่านคำแนะนำการใช้การติดตั้งอย่างละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด  

 

5.สำหรับรถเก๋ง ควรติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่เบาะหลัง ไม่ควรติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่เบาะด้านหน้าข้างคนขับ เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุเด็กอาจโดนกระแทกจากถุงลมนิรภัยได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

ส่วนรูปแบบคาร์ซีท (Car Seat)ตามช่วงอายุจะต้องเลือกแบบไหน และการติดตั้งคาร์ซีท (Car Seat) และ บูทส์เตอร์ ซีท (Booster Seat )ควรติดตั้งตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์และไม่ควรติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่เบาะด้านหน้าข้างคนขับ


เด็กแรกเกิด - 1 ปี 

  • ควรใช้คาร์ซีทสำหรับทารกที่เป็นที่นั่งแบบปรับให้หันหน้าไปด้านหลังรถ (Rear-facing car seat )

 

เด็กอายุ 1 - 3 ปี

  • ควรใช้คาร์ซีทสำหรับเด็กเล็กที่เป็นที่นั่งแบบปรับให้หันหน้าไปด้านหลังรถ (Rear-facing car seat )

 

เด็กอายุ 2-6 ปี 

  • ควรใช้คาร์ซีทเป็นที่นั่งแบบหันหน้ามาด้านหน้า (Forward-facing car seat )

 

เด็กอายุ 4 - 12 ปี 

  • ควรใช้ Booster Seat เป็นที่นั่งแบบหันหน้ามาด้านหน้า สำหรับเด็กโตใช้ร่วมกับเข็มขัดนิรภัยปกติ(ขึ้นอยู่กับน้ำหนักและส่วนสูง)

 

เด็กอายุมากกว่า 12 ปี

  • ควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ทุกตำแหน่งที่นั่งโดยสาร 

 

เลือกคาร์ซีทแบบไหน ติดตั้งอย่างไรให้ปลอดภัยและเหมาะสมกับเด็ก

 

ที่มา : กรมกิจการเด็กและเยาวชน , กรมควบคุมโรค