อย่ายอมเป็นเหยื่อ! แนะ 3 วิธีสังเกต "แบงก์ปลอม" 

03 พ.ค. 2565 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2565 | 19:49 น.
1.5 k

ท่ามกลางข่าวแก๊งแบงก์ปลอมอาละวาดหนัก ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด กระทั่งนายกรัฐมนตรีต้องออกมาเตือนให้ประชาชนและคนค้าขาย ระวังกันให้มาก ย้ำบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดจัดการบรรดามิจฉาชีพ พร้อมกันนี้ มี 3 วิธีการแนะนำใช้ เพื่อสังเกต "ธนบัตรปลอม" กัน

จากกรณีนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากเตือนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าให้ระมัดระวัง จากกรณีที่มีการนำ ธนบัตรแบงก์พันปลอม มาใช้ซื้อสินค้าในขณะนี้ โดยขอให้ตรวจสอบธนบัตรที่ได้รับ โดยเฉพาะธนบัตรที่มีมูลค่าสูง ขอให้ตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพแก๊งปลอมธนบัตร

 

พร้อมกันนี้ ได้ขอความร่วมมือประชาชน หากพบธนบัตรปลอม ห้ามนำธนบัตรปลอมออกไปใช้อีก เพราะมีความผิดตามกฎหมาย ให้เขียนคำว่า "ปลอม" ลงบนธนบัตรเพื่อแยกแยะออกจากธนบัตรฉบับจริง แล้วนำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำส่งเข้าระบบ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ โดยให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ให้ได้มากที่สุด หรือโทรศัพท์แจ้งธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 0 2356 7987

 

สำหรับวิธีสังเกต "ธนบัตรปลอม" มีอยู่หลายจุดสังเกตุด้วยกัน ดังนี้

  1. การสัมผัส กระดาษธนบัตร เป็นกระดาษที่ทำจากกระดาษที่มีใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบหลัก จึงมีความแกร่ง ทนทาน และไม่ยุ่ยง่าย เมื่อจับสัมผัสจะให้ความรู้สึกแตกต่างจากกระดาษทั่วไป
  2. ยกส่อง ส่องลายน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระดาษ จากขั้นตอนการผลิตกระดาษโดยใช้กรรมวิธีพิเศษที่ทำให้เนื้อกระดาษมีความหนาบางไม่เท่ากันจนเกิดเป็นภาพตามต้องการ ลายน้ำในธนบัตรไทย เป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง จะเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร นอกจากนี้ ลายน้ำยังมีตัวเลขชนิดราคารูปลายไทยที่โปร่งแสงเป็นพิเศษ
  3. การพลิกเอียงตัวเลขแฝง ตัวเลขแจ้งชนิดราคาซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์ มองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง ภายในมีตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวา ชนิดราคา 500 บาท และ 1,000 บาท จะเห็นการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนสลับสี ส่วนชนิดราคา 100 บาท จะเห็นเป็นประกาย

เปรียบเทียบลายน้ำ

"นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้มีการบังคับใช้กฎหมายจัดการกลุ่มมิจฉาชีพสร้างความเดือดร้อนให้สังคมและประชาชนอย่างเคร่งครัด โดยโทษฐานปลอมหรือแปลงธนบัตร คือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-400,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 240 ส่วนคนที่นำธนบัตรปลอมไปใช้โดยรู้ว่าเป็นของปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-300,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 244" นายธนกร ระบุ