โควิดวันนี้ไม่จบแค่หาย-ตาย หมอธีระชี้ไทยเสียชีวิตสูงอันดับ 8 ของโลก

27 เม.ย. 2565 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2565 | 15:15 น.
2.4 k

โควิดวันนี้ไม่จบแค่หาย-ตาย หมอธีระชี้ไทยเสียชีวิตสูงอันดับ 8 ของโลก ห่วงเกิดปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID แนะไม่ติดเชื้อดีที่สุด

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

27 เมษายน 2565

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 598,592 คน ตายเพิ่ม 2,619 คน รวมแล้วติดไปรวม 510,634,275 คน เสียชีวิตรวม 6,248,384 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอิตาลี

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 80.99% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 82.16%

 

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็น 25.53% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 21.61% 

สถานการณ์ระบาดของไทย

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย

 

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก

 

โควิดวันนี้ไม่จบแค่หาย-ตาย

 

ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 21.2% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

 

หากดูจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวัน รวม ATK ไทยเราจะติดอันดับ Top 10 ของโลกมาติดต่อกันยาวนานถึง 40 วันแล้ว

 

ส่วนจำนวนการเสียชีวิตต่อวันนั้น ติดอันดับ Top 10 ต่อเนื่องมาแล้ว11 วัน

 

อัพเดตสถานะการศึกษาวิจัยวัคซีนทั่วโลก

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่เอกสารสรุปสถานะการศึกษาวิจัยวัคซีนทั่วโลก ล่าสุดเมื่อวานนี้ 26 เมษายน 2565

 

ขณะนี้มีวัคซีนทดลองที่กำลังศึกษาทางคลินิก (clinical development) 153 ตัว และที่กำลังศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการ (pre-clinical development) 196 ตัว

 

สำหรับวัคซีนที่กำลังศึกษาทางคลินิกนั้น ส่วนใหญ่เป็นชนิด Protein subunit 34% ตามมาด้วยชนิด RNA 18% ชนิด Viral vector 14% และชนิดเชื้อตาย 14%

ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นวัคซีนชนิดฉีด (84%) โดยเป็นประเภทต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 77% ทั้งนี้มีการศึกษาจำนวนน้อยสำหรับวัคซีนประเภทที่ต้องฉีดเข้าในหนัง (intradermal) ใต้ผิวหนัง (subcutaneous) พ่นเข้าจมูก (intranasal) สูดดม (inhaled) และประเภทละอองฝอย (aerosol)

 

วัคซีนส่วนใหญ่มักต้องมีการรับวัคซีนในการศึกษาวิจัยจำนวน 2 ครั้ง (58%)

 

สถานการณ์การระบาดของไทยยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง 

 

ทำงาน ค้าขาย บริการ พบปะติดต่อ ศึกษาเล่าเรียน...การใส่หน้ากากเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเป็นด่านสุดท้ายในการป้องกันตัวเรา

 

โควิด  ไม่จบแค่หายหรือตาย แต่เกิดปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ได้
ป้องกันตัว ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด