25 เมษายน วันมาลาเรียโลก ( World Malaria Day )

24 เม.ย. 2565 | 14:48 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2565 | 21:52 น.

สาธารณสุข กรมควบคุมโรค ปลุกกระแส วันที่ 25 เมษายน วันมาลาเรียโลก (World Malaria Day) ไทยประกาศ ปลอดไข้มาลาเรีย ภายในปี 2567 เตือนภัย "ยุงก้นปล่อง" ชอบกัดคนในเวลาพลบค่ำ ตอนดึก และ เช้าตรู่

วันที่ 25 เมษายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้เป็นวันมาลาเรียโลก หรือ World Malaria Dayโดยมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนร่วมแรงร่วมใจในการต่อสู้กับโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศภูมิภาคเขตร้อน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการประชุม East Asia Summit (EAS) เมื่อเดือนพ.ย. 2557 และ การประชุม Roll Back Malaria Partnership (RBM) เมื่อเดือนธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางแก้ไขปัญหามาลาเรียในแต่ละประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดให้มาลาเรียหมดไปจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายในปี พ.ศ.2573 ส่วนของประเทศไทยนั้น

 

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์

 

วันที่24 เมษายน 2565  นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  เผยว่า  ในวันที่ 25 เมษายนของทุกปี กำหนดให้เป็นวันมาลาเรียโลก หรือ "World Malaria Day" โดยปีนี้มีคำขวัญ คือ Harness innovation to reduce the malaria disease burden and save lives หรือ “นวัตกรรมก้าวไกล หยุดไข้มาลาเรีย” ซึ่งประเทศไทยกำหนดเป้าหมายให้ปลอดจากโรคไข้มาลาเรียภายในปี 2567

 

ความสำเร็จของการกำจัดโรคไข้มาลาเรียของประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดทำยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย ระหว่างปี 2560-2569 ผลการดำเนินงาน ตั้งแต่ปี 2560 มีการพัฒนานวัตกรรมในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการตรวจวินิจฉัยการรักษาและการป้องกันควบคุมยุงพาหะมาประยุกต์ใช้ พบว่าประสบความเสร็จเป็นอย่างมาก

 

 

โดยตั้งแต่ปี 2560-2564 จำนวนผู้ป่วยลดลงถึง 72% และตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียจำนวน 731 ราย โดยเป็นผู้ป่วยมาลาเรียชนิดรุนแรง (ฟัลซิปารัม) เพียง 17 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และได้ตั้งเป้าหมายกำจัดเชื้อมาลาเรียชนิดรุนแรงให้หมดจากประเทศไทยภายในปี 2566 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก

 

การดำเนินการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม เน้นการควบคุมโรค และตรวจหาเชื้อในกลุ่มทหาร กระทรวงมหาดไทย

 

เน้นการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงบประมาณโดยกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น และกระทรวงศึกษาธิการ เน้นการให้ความรู้ในเด็กนักเรียนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการป้องกันตนเอง โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีพฤติกรรมป้องกันตนเอง และค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่แพร่เชื้อ

 

ฉันทนา ผดุงทศ

 

ด้านแพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวเสริมว่า ในวันที่ 25 เมษายน 2565 นี้ กรมควบคุมโรคได้จัดกิจกรรมวันมาลาเรียโลกในรูปแบบออนไลน์ผ่านทาง Facebook LIVE Fanpage กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กระทรวงสาธารณสุข สามารถรับชมวิดีทัศน์ “เปิดกิจกรรมรณรงค์วันมาลาเรียโลก”

 

โดย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และชมวิดีทัศน์ “การมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย”  นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา “นวัตกรรมก้าวไกล หยุดไข้มาราเลีย” รวมทั้งการตอบคำถามชิงรางวัลต่างๆ จึงขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมวันมาลาเรียโลกตามช่องทางวันและเวลาดังกล่าว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

อนึ่ง  โรคไข้มาลาเรีย

"โรคไข้มาลาเรีย" เป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องบางชนิดเป็นพาหะ เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่อาศัยในเลือด มีวงจรของเชื้อระยะต่างๆ สลับกัน คือระยะมีเพศและไม่มีเพศ และมีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์จำพวกยุง

 

"ยุงก้นปล่อง" เป็นแมลงชนิดหนึ่ง มีปากคล้ายงวงยื่นยาวออกไปข้างหน้า มักยกส่วนท้องขึ้นสูงเป็นปล่องอย่างเห็นได้ชัดในขณะดูดเลือด

 

"ยุงก้นปล่อง" อาศัยได้หลายที่ เช่น บ้านเรือน ป่า ภูเขา จึงพบมากในชนบทที่อยู่แถวชายป่า ชอบวางไข่ในแหล่งน้ำใสไหลริน แอ่งน้ำสะอาด ธารน้ำไหล หรือน้ำตก


ยุงชนิดนี้ชอบกัดคนในเวลาพลบค่ำ ตอนดึก และเช้าตรู่