อย. ขยายเวลาอายุใช้งานวัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" จาก 6 เดือน เป็น 9 เดือน

12 เม.ย. 2565 | 09:23 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2565 | 16:35 น.
2.0 k

อย. อนุมัติการขยายเวลาหมดอายุวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า จาก 6 เดือน เป็น 9 เดือน โดยให้มีผลทันที

นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติการขยายเวลาหมดอายุวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า จาก 6 เดือนเป็น 9 เดือน ภายหลังจากการพิจารณาข้อมูลประกอบการวิเคราะห์อย่างละเอียด 

 

การอนุมัติดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการโครงการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนในประเทศไทย แอสตร้าเซนเนก้าและพันธมิตรทั่วโลก ได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 กว่า 2.8 พันล้านโดสให้แก่กว่า 180 ประเทศ ทั่วโลก โดยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนดังกล่าว ได้ถูกส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ

 

การอนุมัติขยายเวลาหมดอายุวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นประโยชน์และส่งผลดีต่อโครงการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถเก็บรักษาวัคซีนอย่างปลอดภัยได้นานขึ้นก่อนการใช้งาน

 

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเร่งฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามแก่ประชาชน แอสตร้าเซนเนก้ายังคงเดินหน้าสนับสนุนรัฐบาลไทย ในการส่งมอบวัคซีนเพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 กว่า 50 ล้านราย ป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 5 ล้านราย และได้ช่วยปกป้องชีวิตผู้คนกว่า 1 ล้านชีวิตจากโรคโควิด-19

 

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า (ChAdOx1-S [Recombinant])  เดิมเรียก AZD1222 ถูกคิดค้นโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้ โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง

 

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในกว่า 90 ประเทศ และจากการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้จะช่วยเร่งให้มีการเข้าถึงวัคซีนใน 144 ประเทศผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์