กรมอุตุนิยมวิทยา แจงข่าวลือกรณีสภาพอากาศช่วงนี้เหมือนปี 54

04 เม.ย. 2565 | 17:20 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2565 | 00:28 น.

กรมอุตุนิยมวิทยา แจงกรณีข่าวลือสภาพอากาศช่วงนี้เหมือนปี 54 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ พร้อมประเมินฤดูฝนปี 65 คาดปริมาณฝนเฉลี่ยจะคล้ายคลึงกับปี 61

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับสภาพอากาศช่วงนี้โดยเนื้อหาข้อความระบุดังต่อไปนี้ "ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์ ได้มีการเผยแพร่ข้อความ เรื่อง “อากาศช่วงนี้ เหมือนกับอากาศที่เกิดในเดือนมีนาคม ปี 2554 หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นในฤดูฝนปีนั้น คงไม่ต้องบอกเพราะทุกท่านจำได้ไม่ลืมและพบเจอกับตัวเอง ดังนั้นหากพิจารณาจากหลักทฤษฎีของความคล้ายคลึงกันของสภาพอากาศแล้ว ฤดูฝนปีนี้ พึงระวังให้จงหนักสำหรับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้นนะครับ กลัวว่าจะไม่เตือน”นั้น 

 

จากกรณีข่าวดังกล่าว กรมอุตุนิยมวิทยา จึงได้มีการชี้แจงว่า ข้อความที่นำเสนอถือเป็นข้อมูลที่ต้องติดตาม ให้ตระหนักในการรับรู้ ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบคอบ รอบด้านโดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำ อย่าเพิ่งตื่นตระหนก แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ปริมาณฝนที่ตกในปีนี้มีค่าปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยทั้งประเทศสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 113  ใกล้เคียงกับปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่มีน้ำมากมาตั้งแต่ต้นปี (ตามรูปที่ 1)

 

รูปที่ 1  ปริมาณฝนสะสมบริเวณประเทศไทยปี 2554,2560-2565 เทียบกับค่าปกติคาบ 30 ปี (พ.ศ.2534-2563)

แต่เมื่อเทียบตามสัดส่วนของฝนที่ตกเป็นรายเดือนแล้วยังถือว่าฝนในช่วงต้นปีมีน้อยกว่าในช่วงฤดูฝนมาก ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาจะติดตามและรายงานสถานการณ์รวมทั้งคาดการณ์ความผิดปกติของลมฟ้าอากาศรวมทั้งผลกระทบที่จะมีต่อพี่น้องประชาชนให้ทราบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ 

 

ส่วนสถานการณ์ฝนในปีนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นๆที่ใช้สำหรับการคาดหมายระยะนาน เช่นปรากฏการณ์เอนโซ (ENSO) ปี 2565 เป็นปีของปรากฏการณ์ลานีญาคล้ายคลึงกันกับช่วงต้นปี 2554 และ 2561 ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะเป็นกลางในระยะต่อไป จึงทำให้ช่วงต้นปีนี้ ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนจะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าปกติ แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว คาดการณ์ว่าปริมาณฝนจะใกล้เคียงหรือสูงกว่าค่าปกติ ทำให้ปริมาณฝนเฉลี่ยจะคล้ายคลึงกับปี 2561 

 

ดังนั้นจึงขอให้ติดตามการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นระยะๆ เพื่อเป็นแนวทางประกอบการวางแผนตัดสินใจทั้งในระยะต่างๆ ทั้งนี้การพยากรณ์อากาศมีข้อจำกัดเรื่องความคลาดเคลื่อนยิ่งนานยิ่งมีความคลาดเคลื่อนสูง อีกทั้งประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน  ลักษณะอากาศมีความผันแปรได้ตลอดเวลาแม้ในช่วงสั้นๆ จึงจำเป็นต้องติดตามข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่องเพื่อการนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
 

สำหรับในเรื่องของอุณหภูมิที่ลดลงต่ำกว่าปกติในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นสืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์ลานีญาร่วมกับความผันผวนในเขตอาร์กติกซึ่งมีค่าดัชนี AO เป็นลบ โดยในภาวะดังกล่าวนั้น ความกดอากาศบริเวณขั้วโลกจะค่อนข้างสูง ส่วนบริเวณละติจูดกลาง (ประมาณ 45 องศาเหนือ)จะมีความกดอากาศต่ำกว่า อากาศหนาวเย็นจะไหลลงมาทางใต้สู่อเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชีย (http://www.ucar.edu)

 

ซึ่งเมื่อพิจารณา AO index รายวันและคาดการณ์ (ตามรูปที่ 2 )พบว่าในช่วงปลายเดือนมีนาคม ดัชนีมีค่าเป็นลบต่อเนื่องตลอดจนถึงวันที่ 3 เมษายน แสดงถึงมวลอากาศเย็นจากขั้วโลกไหลลงมาทางใต้ได้มากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ โดยเริ่มกลับเป็นปกติในวันที่ 4 เมษายนและจะกลับมามีค่าเป็นบวกอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้มวลอากาศเย็นล่าถอยและอ่อนกำลังลงไป

รูปที่ 2 AO index รายวันตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2564 – 3 เมษายน 2565 ซึ่งมีค่าเป็นลบในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 จนกระทั่งถึงวันที่ 3 เมษายน 2565 (บน) และคาดการณ์ AO index ในช่วง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-10 เมษายน 2565 จะกลับสู่ปกติและมีค่าเป็นบวกต่อเนื่องตามลำดับ (ล่าง) (ที่มา : www.cpc.ncep.noaa.gov)

 

 

 

อย่างไรก็ตามอากาศหนาวเย็นที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 2-4 เมษายน 2565 เป็นผลมาจากความผันผวนของมวลอากาศเย็นในเขตละติจูดสูงและละติจูดกลาง ส่งผลกระทบกับศูนย์กลางความกดอากาศสูงบริเวณไซบีเรียให้มีกำลังแรงขึ้นและแผ่ลงมาทางใต้ปกคลุมถึงประเทศไทย

 

ประกอบกับในช่วงวันที่ 2 - 4 เมษายน 2565 ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานีญาที่แม้จะมีกำลังอ่อนแต่ก็มีผลกระทบต่ออุณหภูมิของประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงและมีอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูร้อนเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2554 มาแล้ว  โดยในปี 2554 นั้นดัชนี AO มีค่าเป็นลบต่อเนื่องตลอดครึ่งหลังของเดือนมีนาคมซึ่งกินระยะเวลามากกว่าในปีนี้

 

นอกจากนี้การที่อุณหภูมิลดลงมากในช่วงเวลาสั้นๆนั้นส่งผลให้ร่างกายของมนุษย์และสัตว์ปรับตัวไม่ทันจะรู้สึกหนาวเย็นกว่าอุณหภูมิอากาศตามปกติ และอากาศเย็นเมื่อปะทะกับอากาศร้อนที่ปกคลุมอยู่เดิมยังทำให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้นด้วย