หากเคยติดเชื้อโควิดและได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจนหาย ให้ลองสังเกตตัวเองดูอีกทีว่าอาการที่เคยมีขณะที่ติดเชื้อ อย่างอาการเหนื่อยเพลียนั้น ยังมีหลงเหลืออยู่หรือไม่? ถ้าใช่ มีความเป็นไปได้ว่ากำลังตกอยู่ในภาวะ Long COVID (ลองโควิด)
Long COVID เกิดขึ้นกับคนที่ติดเชื้อโควิดทุกคนไหม
- ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่หายป่วยโควิดทุกคน
- ไม่สามารถแพร่เชื้อโควิดๆได้
- ไม่ทำร้ายปอดหรือร่างกายซ้ำ
- อาการจะค่อยๆดีขึ้นใน 3-4 เดือน
Long Covid พบมากในคนกลุ่มไหน
- กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
- กลุ่มโรคประจำตัว
- กลุ่มได้รับยาสเตียรอยด์ ทำให้ร่างกายยังมีอาการต่อเนื่องไปถึง 2-4 เดือน หรือนานถึง 6 เดือน เช่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ไอเล็กน้อย เพลีย หรือเหนื่อย และรู้สึกร่างกายไม่เหมือนเดิม สามารถรอให้ร่างกายฟื้นตัวได้เอง หากมีอาการเหนื่อย ไอมากขึ้น หรือมีอาการทางระบบประสาทมากกว่าปกติ เช่น การสับสน แนะนำว่าควรไปพบแพทย์
ภาวะ Long COVID ถูกแบ่งเป็นทั้งหมด 3 ประเภท
ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการใหม่ หรืออาการเดิมไม่หายไป (New or ongoing symptoms)
- มีอาการยาวนานต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหลังจากติดโควิดเป็นครั้งแรก
- มักพบในคนไข้อาการรุนแรงตั้งแต่ต้น และทวีคูณความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือใช้สมาธิจดจ่อมาก ๆ โดยมีอาการ เช่น เป็นไข้ ปวดหัว วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หายใจเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม ไอ แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดท้อง ท้องเสีย รับประทานอาหารไม่ลง ปวดหู หรือมีเสียงในหู ใจสั่น ขาดสมาธิ หรือคิดอะไรไม่ออก หัวตื้อ นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน มีอาการชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ไม่ได้กลิ่นหรือรับรสได้ไม่ดี ผื่นตามตัว รอบประจำเดือนมาผิดปกติ
ภาวะที่ผู้ป่วยโควิด มีความผิดปกติในหลายอวัยวะ (multiorgan effects)
- มีอาการผิดปกติเกี่ยวเนื่องกับอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย
- มีสาเหตุจากปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาที่รุนแรงอย่าง cytokine storm ที่ร่างกายของผู้ป่วยโควิด ไม่สามารถควบคุมการหลั่งสารในระบบภูมิคุ้มกันกลุ่ม cytokine ได้
- ส่งผลให้เนื้อเยื่อของอวัยวะหลายส่วนถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วยเอง มักพบมากที่บริเวณเนื้อเยื่อหัวใจ ปอด ไต สมอง และผิวหนัง
- ในเด็กอาจะพบการเกิดโรค Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19 (MIS-C) ที่มีอาการโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) คือเกิดการอักเสบในหลายอวัยวะ มีไข้สูง ผื่นขึ้น ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่หรือหลังหายทันที โดยโรคนี้อาจมีผลกระทบต่อหลายอวัยวะ (multiorgan effects) ในระยะยาวได้
ผลกระทบระยะยาวจากการนอนโรงพยาบาลและจากการติดโควิด
- ผู้ป่วยโควิดที่มีการนอนโรงพยาบาล โดยเฉพาะห้อง ICU ที่ส่งผลกระทบด้านจิตใจ
- อาจทำให้แขนขาไม่ค่อยมีแรงและยังคงรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่แม้จะไม่มีเชื้อโควิดอยู่แล้ว
- ในบางกรณีอาจมีผลต่อเรื่องการคิดและคำพูด นำไปสู่ภาวะที่มีอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบเหตุการณ์รุนแรง (post-traumatic stress disorder; PTSD) เช่น การได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือถูกปั๊มหัวใจในการช่วยชีวิต ส่งผลให้เกิดความเครียดฉับพลันและอาจสะสมมาอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า สถิติของผู้ป่วยโควิดประมาณ 50% อาจจะมีภาวะ Long COVID แต่จะรักษาหายขาดได้ในระยะ 6 เดือนขึ้นไป และยังไม่พบว่าร่างกายจะได้รับผลกระทบระยะยาวจากเป็นภาวะนี้
ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่ชัดเจน แต่อาจจะพบประมาณ 20-30% ที่ผู้ป่วยโควิดหลังจากรักษาหายแล้วจะมีอาการเพลีย ซึ่งกรมการแพทย์กำลังเก็บข้อมูลในส่วนนี้เพื่อทำการประเมินอาการที่มีความสัมพันธ์กับภาวะ Long COVIDให้ชัดเจนต่อไป
ป้องกันภาวะ Long COVID ได้อย่างไร?
- ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด
- สวมใส่หน้ากากที่คลุมบริเวณปากและจมูกอย่างมิดชิด
- รักษาระยะห่าง โดยอยู่ห่างจากผู้อื่นประมาณ 1.5-2 เมตร
- เลี่ยงบริเวณแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- ล้างมือบ่อย ๆ
ข้อมูล : รามาเเชเเนล