เช็คสิทธิบัตรทอง รักษาทุกที่ไม่มีใบส่งตัว ใช้ที่ไหนได้-ไม่ได้บ้าง

31 มี.ค. 2565 | 16:18 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2565 | 23:31 น.
3.2 k

รัฐบาลยอมรับประชาชนหลายคนยังไม่รู้สิทธิบัตรทอง รักษาทุกที่ไม่มีใบส่งตัว เริ่มมาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 แล้ว โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ ส่วนจะใช้ที่ไหนได้-ไม่ได้บ้างนั้น เช็ครายละเอียดได้ที่นี่

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีประชาชนบางส่วนที่ถือบัตรทอง อาจไม่ทราบข้อมูลและเข้ารับบริการสถานพยาบาลที่ไม่ได้จัดบริการหน่วยปฐมภูมิและทางโรงพยาบาลมีการขอใบส่งตัว เมื่อไม่มีใบส่งตัวจึงถูกคิดค่าบริการ 

 

ในกรณีนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีข้อแนะนำว่า หากไม่แน่ใจว่าสถานพยาบาลที่จะเข้ารับการรักษานั้นมีหน่วยปฐมภูมิและอยู่ในกลุ่มที่ยกเลิกการขอใบส่งตัวแล้วหรือไม่

 

ทั้งนี้ก่อนเข้ารับบริการสามารถโทรสอบถามที่ สายด่วน สปสช. 1330 กด 0 เพื่อสอบถามเจ้าหน้าที่  หรือ สอบถามที่ไลน์ OA  สปสช. @nhso  

รัฐบาลขอแจ้งว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายยกระดับบัตรทองสู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ โดยให้ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง สามารถเข้าใช้บริการหน่วยบริการปฐมภูมิในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทุกแห่งทั่วประเทศ ดังนี้

  • สถานีอนามัย
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) 
  • โรงพยาบาลประจำอำเภอ 
  • โรงพยาบาลประจำจังหวัด 
  • หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล
  • ศูนย์สุขภาพชุมชน 
  • ศูนย์บริการสาธารณสุข (พื้นที่กรุงเทพฯ)
  • คลินิกชุมชนอบอุ่น (พื้นที่กรุงเทพฯ)

 

โดยไม่ต้องมีใบส่งตัวจากหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา  

 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หลักการของนโยบายนี้คือ ประชาชนที่ถือบัตรทอง ยังคงเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนและหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย แต่กรณีมีความจำเป็นหรือเหตุสมควรสามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิที่หน่วยบริการปฐมภูมินอกเครือข่ายได้

 

โดยหน่วยบริการทุกแห่งที่ให้บริการประชาชนในลักษณะนี้ จะไม่ต้องให้ประชาชนกลับไปรับใบส่งตัว หรือมีการเรียกเก็บเงินจากประชาชน แต่ให้มาเรียกเก็บเงินจาก สปสช. 

 

อย่างไรก็ตาม จะมีโรงพยาบาลในกลุ่มที่ไม่ได้จัดหน่วยบริการปฐมภูมิ จัดเป็นหน่วยบริการขั้นตติยภูมิ เมื่อประชาชนเข้าใช้บริการจะยังมีการขอใบส่งตัว มีดังนี้

  • โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ 
  • โรงพยาบาลเฉพาะทาง ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล 

 

“ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา ประชาชนผู้ถือบัตรทอง สามารถเข้ารับบริการในระบบบริการปฐมภูมิในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทุกแห่ง โดยหน่วยบริการจะไม่มีการเรียกใบส่งตัว แต่ในกรณีโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางนั้นจะไม่ได้จัดหน่วยปฐมภูมิดังนั้นจึงอาจมีกรณีขอใบส่งตัวของผู้ป่วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

 

ทั้งนี้ บริการสุขภาพปฐมภูมิ คือ บริการสุขภาพด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีบทบาทในการดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่นโดยเน้นการป้องกันไม่ให้ป่วย หากเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลรักษาเบื้องต้น (และครอบคลุมในกรณีที่จำเป็นจะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่รักษาโรคซับซ้อนมากขึ้น) รวมถึงบริการฟื้นฟูสุขภาพด้วย