ทำไม 13 มี.ค. จึงถือเป็น “วันช้างไทย” ความหมายและที่มา

13 มี.ค. 2565 | 15:12 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2565 | 22:38 น.
565

วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น “วันช้างไทย” ตามที่ประกาศไว้ในพระราชกิจจานุเบกษา จุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณูปการของช้างที่มีต่อประเทศชาติมาตั้งแต่โบราณกาล  

ช้าง เป็น สัตว์คู่บ้านคู่เมือง ของไทยมาตลอดระยะเวลายาวนาน ดังจะเห็นได้ว่า ครั้งหนึ่งประเทศไทยเมื่อสมัยยังใช้ชื่อ “ประเทศสยาม” ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 6 เคยใช้ "ช้างเผือก" เป็น สัญลักษณ์ประจำชาติ ปรากฏบนผืนธงชาติ กระทั่งปี 2460 สมัยรัชกาลที่ 6 จึงเปลี่ยนจากธงช้างเผือกเป็นธงไตรรงค์ หรือ ธง 3 สีดังที่เราคุ้นเคยกัน   

 

เหตุที่กำหนดให้ วันช้างไทย ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีนั้น คณะกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย อันเป็นหน่วยงานประสานงานองค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับช้างไทย ร่วมกับคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้หารือเลือกวันที่เหมาะสมสำหรับการระลึกถึงและจัดกิจกรรมเกี่ยวกับช้างไทย ตอนแรกเล็งว่าน่าจะเลือกวันที่ตรงกับการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา ซึ่งพระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือราชศัตรูบนหลังช้าง (คือวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 ) แต่เนื่องจากวันดังกล่าวตรงกับวันกองทัพไทย จึงได้พิจารณาเลือกวันอื่นแทน

13 มีนาคม วันช้างไทย

ซึ่งสุดท้ายก็เลือกที่จะใช้วันที่ 13 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการฯ ได้คัดเลือก “ช้างเผือก” เป็น สัตว์ประจำชาติไทย และใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นไทย หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นชอบประกาศให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันช้างไทย” และประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2541

ผลจากการที่ประเทศไทยมี “วันช้างไทย” เกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่า “ช้าง” ว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับประเทศชาติอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ครั้งโบราณกาลมาจนถึงปัจจุบันก็ตาม

 

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติฯเมื่อปีที่ผ่านมา (2564) พบว่า ปัจจุบันช้างเอเชียจัดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ พบเฉพาะบางพื้นที่ใน 13 ประเทศ เท่านั้น ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ ภูฏาณ จีน เมียนมาเวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งสถานการณ์ของช้างไทยเองนั้น ก็เริ่มขาดแคลนพืชอาหาร แหล่งน้ำ รวมถึงสภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของช้างป่า ก็มีขนาดลดลงจากเดิม

13 มีนาคม วันช้างไทย

ปัจจุบัน ( ข้อมูล ณ 2564) มีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168-3,440 ตัว อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง มีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตร.กม พบช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200 – 300 ตัว โดย กลุ่มป่าที่มีประชากรช้างป่ามาก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าตะวันออก และ กลุ่มป่าแก่งกระจาน

13 มีนาคม วันช้างไทย

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งที่เป็นถิ่นอาศัยของช้างป่าเริ่มขาดแคลนพืชอาหาร แหล่งน้ำ พื้นที่เป็นภูเขา มีความลาดชันสูง ทำให้สภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของช้างป่ามีขนาดลดลงจากเดิม เนื่องจากผืนป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อาศัยของช้างป่าดังกล่าว ไม่เชื่อมโยงกัน ถูกแบ่งแยกตัดขาดออกจากกัน เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน การขยายพื้นที่เกษตร การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างเส้นทางคมนาคมที่ผ่านป่าสมบูรณ์ การก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักก่อให้เกิดปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรที่อาศัยใกล้ชิดตามแนวขอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และกำลังกลายมาเป็นปัญหาที่สำคัญและเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปี

 

ทางกรมอุทยานฯ จึงได้กำหนดให้มีบริหารจัดการช้างป่าทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อการอนุรักษ์ช้างป่า ตลอดจนลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า สิ่งสำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างถูกทำลาย ทั้งการป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าและการตัดไม้ ป้องกันไม่ให้มีการล่าช้าง ปรับปรุงป่าเสื่อมโทรมให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยตามหลักวิชาการ รวมทั้งกลุ่มป่าบางแห่งที่เป็นเส้นทางช้างในอดีตที่ถูกตัดขาดไม่ต่อเนื่อง ก็จะมีการสร้างแนวเชื่อมต่อพื้นที่ให้เป็นป่าผืนใหญ่เชื่อมต่อหากันได้ เป็นต้น