เปิดผลงานพระเอกเรื่องแรกของเอก-สรพงษ์ ชาตรี “มันมากับความมืด”

10 มี.ค. 2565 | 18:42 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2565 | 21:21 น.
2.5 k

บนเส้นทาง 52 ปี "เอก-สรพงษ์ ชาตรี" กับบทบาทพระเอกเรื่องแรกในชีวิต “มันมากับความมืด” พร้อมผลงานคุณภาพกว่า 500 เรื่อง ศิษย์เอกท่านมุ้ย

หลังป่วยโรคมะเร็งปอดมาได้ระยะหนึ่ง ที่สุด “เอก-สรพงษ์ ชาตรี” จากไปอย่างสงบเมื่อช่วงบ่าย วันที่ 10 มีนาคม 2565 ณโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ ถือเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของวงการบันเทิงไทย กับบุคคลคุณภาพ ที่สร้างผลงานกว่า 500 เรื่อง ปิดตำนานพระเอกตลอดกาล กับ  52 ปีในวงการบันเทิงไทย

 

เอก-สรพงษ์ ชาตรี” มีโอกาสพบกับ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล  หรือท่านมุ้ย ในวัย 19 ปี จากการฝากฝังของ นายสุรพงศ์ โปร่งมณี คอสตูม “ละโว้สตูดิโอ”  “สรพงษ์ ชาตรี” ได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่วังละโว้ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ก่อนที่จะเริ่มการแสดงครั้งแรกในปี 2512 โดยเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์เรื่อง สอยดาว สาวเดือน และเด็กยกของในกองถ่ายละคร

 

แววการแสดงของ “สรพงษ์” ก็เข้าตากรรมการจนได้แสดงเป็นพระเอกเต็มตัวเรื่องแรก “มันมากับความมืด” ในปีพ.ศ. 2514  ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล  

สรพงษ์ ชาตรี

โดยชื่อ สรพงษ์ ชาตรี ที่ใช้ในการแสดง ผู้ตั้งให้คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา โดยคำว่า "สร" มาจาก อนุสรมงคลการ, "พงศ์" มาจาก สุรพงศ์ โปร่งมณี (ผู้พามาฝากตัวกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม) และ "ชาตรี" มาจาก ชาตรีเฉลิม

 

“สรพงษ์” ถือเป็นศิษย์เอกของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม โดยได้รับบทในภาพยนตร์แทบทุกเรื่อง ทั้งบทพระเอก พระรอง และเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในบางครั้ง มีผลงานแสดงกว่า 500 เรื่อง ได้รางวัลตุ๊กตาทองครั้งแรกจากเรื่อง ชีวิตบัดซบ และ สัตว์มนุษย์ สองปีติดต่อกัน และมีชื่อเสียงในต่างประเทศจากเรื่อง แผลเก่า (พ.ศ. 2520) กำกับโดยเชิด ทรงศรี นับว่าประสบความสำเร็จสูงสุด

 

สรพงษ์ ได้รับรางวัลทางการแสดงจากหลายสถาบัน เช่น รางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี ดารานำชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง สัตว์มนุษย์ ชีวิตบัดซบ มือปืน มือปืน 2 สาละวิน เสียดาย 2 รางวัลสุพรรณหงส์ ดารานำชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ถ้าเธอยังมีรัก มือปืน และนักแสดงประกอบชายจากเรื่อง องค์บาก 2 ส่วนรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง นักแสดงชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง มือปืน 2 สาละวิน

  สรพงษ์ ชาตรี

“สรพงษ์ ชาตรี” ยังเคยดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมตตาบารมี อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปะร่วมสมัย) สาขาศิลปะการแสดงในคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย รวมไปถึง ได้รับเลือกเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงในปี พ.ศ. 2551