ข่าวน้ำท่วมภาคใต้ เหลือ 4 อำเภอ"ปัตตานี" เปิดพื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง

04 มี.ค. 2565 | 10:38 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2565 | 17:46 น.

ข่าวน้ำท่วมภาคใต้ ปภ.รายงงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดปัตตานีรวม 4 อำเภอ เปิดพื้นที่เฝ้าระวัง น้ำล้นตลิ่ง/น้ำท่วมขัง วันที่ 4 มี.ค.65

เกาะติด"ข่าวน้ำท่วม"ภาคใต้ วันที่ 4 มี.ค.65 เวลา 09.50 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานจากอิทธิผลหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ประกอบกับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ส่งผลให้ฝนตกหนักและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ในห้วงวันที่ 25 ก.พ. – 4 มี.ค.65

 

ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่รวม 7 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี สงขลา และตรัง รวม 44 อำเภอ 227 ตำบล 1,122 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 59,563 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 ราย

ปัจจุบันยังมีสถานการณ์ในจังหวัดปัตตานี 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอหนองจิก อำเภอสายบุรี และอำเภอไม้แก่น รวม 16 ตำบล 31 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,604 ครัวเรือน ระดับน้ำในพื้นที่ลดลง

 

ปภ.รายงานข้อมูลคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย ประจำวันที่ 4 มีนาคม 2565

 

พื้นที่เฝ้าระวัง น้ำล้นตลิ่ง/น้ำท่วมขัง

 

  • ภาคใต้ จ.ปัตตานี (อ.เมืองฯ หนองจิก สายบุรี ไม้แก่น)

ขอให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ อุบัติภัยจากไฟฟ้า รวมถึงระวังการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านเส้นทาง

 

พื้นที่เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ(PM 2.5) ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ

 

ระดับมีผลต่อสุขภาพ

  • ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ)

 

ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

  • ภาคเหนือ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สาย) เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ แม่แจ่ม เชียงดาว) ลำปาง (อ.เมืองฯ แม่เมาะ) ลำพูน (อ.เมืองฯ) น่าน (อ.เมืองฯ) แพร่ (อ.เมืองฯ) พะเยา (อ.เมืองฯ) ตาก (อ.เมืองฯ แม่สอด) อุตรดิตถ์ (อ.เมืองฯ) สุโขทัย (อ.เมืองฯ) และพิษณุโลก (อ.เมืองฯ)
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย (อ.เมืองฯ) หนองคาย (อ.เมืองฯ) บึงกาฬ (อ.เมืองฯ) นครพนม (อ.เมืองฯ) และนครราชสีมา (อ.เมืองฯ)
  • ภาคกลาง จ.สระบุรี (อ.เฉลิมพระเกียรติ) - ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ ลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางที่โล่งแจ้ง และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

 

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง บริเวณปากแม่น้ำและพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่ง

  • ภาคกลาง จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพมหานคร
  • ภาคใต้ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส - ระวังผลกระทบจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง

 

ภาพและข้อมูลจาก : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM