สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังติดเชื้อสูง ไทยติดเชื้อรวมatk พุ่งอันดับ 4 เอเชีย

01 มี.ค. 2565 | 09:10 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2565 | 16:11 น.

สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังติดเชื้อสูง ไทยติดเชื้อรวมatk พุ่งอันดับ 4 เอเชีย หมอธีระชี้ปัญหาเรื่อง Long COVID จะเป็นภาระระยะยาว

สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังคงมีอัตราการติดเชื้อที่สูง เช่นเดียวกับในประเทศไทย

 

ล่าสุด รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

1 มีนาคม 2565 ทะลุ 436 ล้านแล้ว

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 954,157 คน ตายเพิ่ม 4,959 คน รวมแล้วติดไปรวม 436,819,734 คน เสียชีวิตรวม 5,973,787 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ รัสเซีย เยอรมัน ตุรกี และญี่ปุ่น 

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 95.8% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 94.35%

 

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปเอเชียนั้นสูงกว่าทุกทวีป โดยคิดเป็น 47.59% จำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 34.34%

 

ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็น 40.21% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 41.25%

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 10 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

ภาพรวมของการระบาด

 

ค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์ ทั่วโลกมีจำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 15% และตายลดลง 17% 

 

แต่ทวีปเอเชียนั้น ยังมีติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 4% แต่ตายลดลง 3%

 

ส่วนเมืองไทยนั้น ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 32% และตายเพิ่มขึ้น 42%

 

สถานการณ์ระบาดของไทย

 

เมื่อวานนี้หากดูเฉพาะจำนวนติดเชื้อยืนยัน จะสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก

 

แต่หากรวม ATK ด้วย จะพุ่งไปถึงอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย

 

ปัญหาเรื่อง Long COVID จะเป็นภาระระยะยาว

 

ความรู้ทางการแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าหลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง 

 

ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย ทั้งเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจขาดเลือด การเต้นหัวใจผิดจังหวะ ลิ่มเลือดอุดตัน อ่อนเพลียอ่อนล้า 

มีปัญหาเรื่องความคิดความจำ หายใจเหนื่อย หรือความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ระบบต่อมไร้ท่อ รวมถึงปัญหาด้านจิตเวช เช่น เครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ในระยะยาวได้ 

 

Long COVID เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ
หญิงเสี่ยงมากกว่าชาย ผู้ใหญ่เสี่ยงมากกว่าเด็ก

 

แม้มีงานวิจัยจากต่างประเทศที่ใช้วัคซีนประสิทธิภาพสูง ว่าการฉีดสองเข็มแล้วจะช่วยลดโอกาสเกิด Long COVID ได้ แต่ก็ป้องกันได้เพียงบางส่วน ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมจะเป็นการดีกว่าหวังพึ่งผลลดความเสี่ยงจากวัคซีนแต่เพียงอย่างเดียว

 

ความผิดปกติระยะยาวนั้น จะส่งผลกระทบต่อการทำงาน การเรียน รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน บั่นทอนสมรรถนะในการใช้ชีวิต และเป็นภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวต่อคนที่เป็น ครอบครัว และประเทศ

 

จึงเป็นที่มาของการที่แพทย์ออกมาย้ำเตือนเรื่องการป้องกันตัวเองและครอบครัวอย่างเคร่งครัด เป็นกิจวัตร

 

ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น

 

หากไม่สบาย ควรบอกที่บ้านที่เรียนที่ทำงาน หยุดเรียนหยุดงาน และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน