เจอแจกจบโควิด คือ อะไร เริ่มวันไหน ที่นี่มีคำตอบ  

28 ก.พ. 2565 | 17:45 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2565 | 00:48 น.
5.4 k

เปิดนิยาม เจอแจกจบโควิด คือ อะไร กระทรวงสาธารณสุขเริ่มให้บริการได้วันไหน ใครบ้างที่เข้าข่ายได้รับบริการนี้ อ่านรายละเอียดได้ครบที่นี่

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทยอย่างมาก ด้วยจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ที่ขยับเพิ่มสูงขึ้นซึ่งในจำนวนนี้พบว่า มีอาการไม่รุนแรงสามารถเข้ารับการรักษาในลักษณะเป็นผู้ป่วยนอก คือ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลแต่ดูแลรักษาตัวที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) ได้ นี่คือ ที่มาของคำว่า เจอแจกจบ ที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขพร้อมเดินหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้บริการกับประชาชน 

 

สำหรับเรื่องนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขยายความโดยอธิบายเกี่ยวกับแนวทางการจัดบริการดูแลรักษาโรคโควิด 19 ในลักษณะ เจอแจกจบ ว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องการให้มีการจัดการโรคโควิด 19 จากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) คือ โรคลดความรุนแรงลง มีระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนมีภูมิต้านทานที่เพียงพอ โรคไม่ได้มีภาวะอันตราย

 

ดังนั้น จึงจะจัดระบบบริการเพิ่มขึ้นแบบผู้ป่วยนอก สำหรับผู้ที่สงสัยหรือมีความเสี่ยงว่า จะติดเชื้อภายหลังใช้ชุดตรวจ ATK แล้วพบว่า มีผลตรวจเป็นบวกก็จะให้การรักษาด้วยยา 3 สูตร ดังนี้ 

  1. ยารักษาไวรัสโดยตรง คือ ฟาวิพิราเวียร์ 
  2. ฟ้าทะลายโจร 
  3. ยารักษาตามอาการ เช่น วิตามินซี ยาลดไข้ ลดน้ำมูก แก้ไอ 

 

ตามอาการที่มี เราเรียกว่าการให้บริการหรือการดูแลรักษานี้ว่า "เจอแจกจบ" อย่างไรก็ดี การให้ยาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแพทย์ที่จะพิจารณาว่า จะให้ยาแบบใดซึ่งต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับคนไข้ก่อน

 

นอกจากนี้ระบบดังกล่าวยังเป็นการเชื่อมโยงเข้าไปสู่โรคที่สามารถดูแลได้ด้วยตนเองและมารับบริการผู้ป่วยนอกได้ โดยจะเริ่มในวันที่ 1 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ ในบางจังหวัดมีการนำร่องดำเนินการไปแล้ว รวมถึง รพ.ศิริราช โดยผู้ติดเชื้อไม่ต้องนอน รพ. แต่ได้รับการดูแลให้การรักษาที่บ้านซึ่งอาจไม่ต้องกักตัวตลอดเวลาก็ได้ แต่จะต้องดูแลตนเอง สังเกตอาการ ไม่พบคนหมู่มาก และพยายามอยู่ในห้องอยู่บ้าน ลดการเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อ 

 

ขณะนี้ในส่วนของผู้มีความเสี่ยงสูง ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ก็สามารถใช้ระบบการดูแลเพิ่มตรงนี้ได้ แต่อยู่ที่การพิจารณาของแพทย์ หากมีความเสี่ยงมากก็พิจารณารับเป็นผู้ป่วยในได้ ทั้งนี้ ย้ำว่าระบบเดิมยังมีอยู่แต่จัดบริการแบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นมาเพื่อสะดวกต่อการมารับบริการ นพ.เกียรติภูมิ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุ

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การให้บริการดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเชื่อมโยงเข้าสู่โรคที่ดูแลได้ด้วยตนเองซึ่งสอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการโรคโควิด-19 ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เมื่อโรคลดความรุนแรงลง ไม่มีภาวะอันตราย และประชาชนก็มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว

 

พร้อมระบุเน้นย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ยังฝากความห่วงใยถึงประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบเกณท์และรวมกลุ่ม 608 และผู้ได้วัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ต้องไม่ประมาท ขอให้งดเข้าสถานที่เสี่ยง งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม ชะลอเดินทาง ทำงานที่บ้าน (WFH) ร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศยังคงระดับการเตือนภัยโรคไวรัสโควิด-19 ไว้ที่ระดับ 4 ถึงขณะนี้

 

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2565) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,311 ราย จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อในประเทศ 22,175 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 136 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 668,492 ราย หายป่วยกลับบ้าน 17,470 ราย เสียชีวิต 42 ราย