อัพเดท ศูนย์พักคอยกทม. ยังเหลือเตียงว่างอีกเท่าไร เช็คที่นี่

22 ก.พ. 2565 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2565 | 04:50 น.
2.4 k

ผู้ว่าฯ อัศวิน อัพเดทตัวเลขเตียงว่างศูนย์พักคอย กทม. 31 แห่ง พร้อมขยายเตียงเพิ่มเพื่อรับผู้ป่วยโควิด -19 ดูแลผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวเข้าระบบการรักษาแบบ HI/CI

ศูนย์บริการสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค. รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ล่าสุดประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 พุ่งสูงถึง 18,883 ราย ผลตรวจ ATK พบผู้ป่วยติดเชื้อเข้าข่ายเพิ่มอีก 15,010 ราย รวมยอดติดเชื้อพุ่งพรวดกว่า 33,800 คนโดยมียอดตัวเลขป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปีทะลุ 500,000 รายแล้ว ในส่วนของกทม.นั้น มีรายงานว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4/2565

 

มีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และระบบทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ประชุม สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 วันนี้ กทม. มีผู้ป่วยใหม่ จำนวน 2,753 ราย เสียชีวิต 3 ราย

สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบกักตัวที่บ้าน (HI) ในวันนี้ มีจำนวน 3,272 ราย สะสม 52,775 ราย อยู่ระหว่างการรักษา จำนวน 21,790 ราย จำหน่ายสะสม 30,985 ราย

 

บรรยากาศโรงพยาบาลสนาม-ศูนย์พักคอย กทม.

ขณะที่ในส่วนของศักยภาพเตียงใน กทม. ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ประจำวันที่ 17 ก.พ. 65 เมื่อเวลา 20.00 น. ระบุว่า สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากโรงพยาบาลทั้งหมด 226 แห่ง มีเตียงรองรับทั้งหมด 44,345 เตียง แบ่งตามกลุ่ม ได้แก่

  • โรงพยาบาลหลัก 48 แห่ง  จำนวน  4,673 เตียง
  • โรงพยาบาลสนาม 17 แห่ง จำนวน  2,941 เตียง
  • Hospitel             161 แห่ง จำนวน  36,731 เตียง

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 ก.พ. 65 ระบุว่า ปัจจุบันมีอัตราการครองเตียงที่อยู่ในความดูแลของสำนักการแพทย์ กทม. มีจำนวนเตียงทั้งหมด 3,460 เตียง

  • ครองเตียง 2,976 เตียง คิดเป็น 86.01%
  • เตียงว่าง 484 เตียง คิดเป็น 13.99%

ส่วนศูนย์พักคอย หรือ Community Isolation มีจำนวน 31 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 3,981 เตียง ปัจจุบันมีอัตราการครองเตียง 1,716 ราย คิดเป็น 43.10% คงเหลือ 2,065 เตียง แบ่งออกเป็น

  • ศูนย์พักคอยที่เปิดบริการและมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา จำนวน 19 แห่ง 2,858 เตียง
  • ศูนย์พักคอยที่เปิดบริการแต่ยังไม่มีผู้ป่วย จำนวน 7 แห่ง 648 เตียง
  • ศูนย์พักคอยที่พร้อมเปิดดำเนินการ (standby mode) จำนวน 5 แห่ง 475 เตียง

 

อย่างไรก็ดี กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมพร้อมศักยภาพการขยายเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 หากมีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อย เป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว ขอให้เข้าระบบการดูแลที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI First) จะทำให้เตียงในโรงพยาบาลมีเพียงพอสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องใช้เตียงในโรงพยาบาล และสำรองเตียงให้กับผู้ป่วยระดับสีเหลืองและแดง รวมทั้งผู้ป่วยทั่วไปและโรคอื่น ๆ ด้วย

 

บรรยากาศโรงพยาบาลสนาม-ศูนย์พักคอย กทม. (2)

พร้อมกันนี้มติที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และสำนักงานประชาสัมพันธ์ ชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างมั่นใจให้กับประชาชนว่า หากติดเชื้อโควิด-19 และเข้าระบบการรักษาแบบ HI/CI ก็จะได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ดี โดยมีการติดตามประเมินอาการจากแพทย์ทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ

 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ในกทม. สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาโดยโทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 14 สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 หรือ สายด่วนโควิด (EOC) 50 เขต ได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรับการประเมินอาการ และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด

 

สายด่วนโควิด 19 ทั้ง 50 เขต