ด่วน! สธ.ยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง

21 ก.พ. 2565 | 15:37 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2565 | 03:25 น.
59.8 k

กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับเตือนภัย "โควิด" จากระดับ3 เป็น ระดับ 4 ทั่วประเทศ หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง ขอให้รีบฉีดเข็มกระตุ้นพร้อมเผยมาตรการที่เป็นข้อปฏบัติตัวที่ควรทำ

วันนี้ (21 ก.พ.65)  นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น สธ.จึงประกาศการเตือนภัยโควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ จากสถานการณ์การแพร่ระบาด สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ด่วน! สธ.ยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง

ประเทศไทยคาดการณ์ 1-2 สัปดาห์ นี้ระดับผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูง ปฏิเสธมาจากการรวมกลุ่มกันในการสังสรรค์ โดยขอให้หลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่แออัดหรือพบคนหมู่มาก หากพบว่าตัวเองมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เบื้องต้นขอให้ได้ตรวจด้วยชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตัวเอง หรือ ATK ได้ทันที

 

ด่วน! สธ.ยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง

ทั้งนี้การฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม อาจจะไม่เพียงพอต่อการติดเชื้อ ดังนั้น ขอให้ประชาชนไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเร็วหากครบกำหนดระยะเวลา

 

ด้วยสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่ยังคงสูงขึ้นทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีความจำเป็นจะต้องยกระดับเตือนภัยโควิด จากระดับ 3 เป็นระดับ 4 

มาตรการควบคุมหลังยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ

  • งดเข้าสถานที่เสี่ยง
  • งดทานอาหารร่วมกัน ดื่มสุราในร้าน
  • เลี่ยงไปซื้อของที่มีคนจำนวนมาก เช่น ตลาด ห้าง
  • เลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน
  • งดร่วมกิจกรรม กลุ่มตามเกณฑ์ต่างๆ
  • มาตรการทำงานที่บ้านให้ได้ร้อยละ 50-80
  • ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดหากจำเป็นใช้รถยนต์ส่วนตัว
  • เลี่ยงไปต่างประเทศ
  • หากเข้าประเทศต้องปรับตัวในสถานที่กักกัน

ด่วน! สธ.ยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ 4 ทั่วประเทศ หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่ง

  ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้เป็นการเตือนภัยโควิด-19 ระดับ 4 โดยยกระดับจังหวัดเสี่ยงสูงเป็นทุกจังหวัด พร้อมขอความร่วมมืองดเข้าสถานที่เสี่ยง (เปิดเฉพาะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต) เลี่ยงการรวมกลุ่ม ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ และทำงานที่บ้าน (Work From Home: WFH) เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 13-19 ก.พ. 65) พบการติดเชื้อกระจายไปทั่วประเทศแล้ว โดยอัตราการติดเชื้อต่อประชากร 1 แสนคน พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100 คน

 

ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยเสียชีวิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในครอบครัว และคนที่รู้จักขณะทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กินอาหารร่วมกันกับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนนักเรียน เล่นกีฬา รวมทั้งกิจกรรมงานบุญ งานศพ งานแต่ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนล่าง

 

สำหรับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ยังคงเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ที่ไม่ใด้รับวัคซีน รวมทั้งที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มบูสเตอร์ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง ให้เน้นตรวจคัดกรองหาเชื้อในกลุ่มผู้ดูแล รวมทั้งติดตามกำกับการใช้มาตรการ VUCA ในศูนย์ดูแลผู้สูงวัยอย่างเคร่งครัด

 

ทั้งนี้ ยังพบการระบาดลักษณะคลัสเตอร์ จากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น งานศพ งานแต่ง งานบุญ ซึ่งขาดการกำกับมาตรการป้องกันโรคที่ดีของผู้จัดงาน หรือจัดกิจกรรม การระบาดในสถานที่ทำงาน ส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงจากการที่มีบุคลากรติดเชื้อจากครอบครัว หรือชุมชน และแพร่โรคต่อให้เพื่อนร่วมงาน จากการไม่ระมัดระวังตัวขณะถอดหน้ากากรับประทานอาหาร และพูดคุยโดยไม่สวมหน้ากาก

 

ในขณะเดียวกัน ยังพบว่า ขาดมาตรการควบคุมกำกับ Universal Prevention (UP) โดยเจ้าของกิจการ พบในหน่วยงานราชการ สถานพยาบาล ร้านอาหาร ค่ายทหาร โรงงานพบการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ (Healthcare workers: HCW) โดยมีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากชุมชน ครอบครัว และในสถานพยาบาล โดยเน้นให้ผู้บริหารสถานพยาบาลควบคุมกำกับงาน IC (ระบบควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล) และมาตรการป้องกันโรค UP กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด

 

สำหรับการคาดการณ์ฉากทัศน์ของโรคโควิด-19 ในไตรมาส 1/65 ขณะนี้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากขึ้น โดยเกินระดับกลางที่คาดการณ์ไว้แล้ว เนื่องจากประชาชนละเลยมาตรการ VUCA มากขึ้น ด้านจำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ต่ำที่สุดอยู่ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีอาการน้อย

 

นพ.จักรรัฐ ได้กล่าวถึงโควิดสายพันธุ์โอมิครอนว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ไม่ต่างจากโอมิครอน BA.1 เรื่องอาการป่วยหนัก และอาการรุนแรง ทั้งนี้ มีรายงานว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 สามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่า BA.1 กว่า 1.4 เท่า อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละประเทศ หากประชาชนในประเทศไทยสามารถปฎิบัติตามมาตรการต่างๆ และฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม ก็จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้เพิ่มมากขึ้นได้

 

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ สธ. กล่าวถึงสถานการณ์และการบริหารจัดการเตียงในกทม. ว่า จากวันที่ 21 ม.ค. 65 ถึงปัจจุบันผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรคโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  

 

อย่างไรก็ดี ยังมีเตียงในระบบรองรับเพียงพอ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยอาการหนักยังอยู่ในระดับทรงตัว และการรักษาเน้นการรักษาระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) เป็นลำดับแรก ยกเว้นผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง

 

สำหรับสถานการณ์เตียงทั่วประเทศขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 173,000 เตียง มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ประมาณ 50% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเตียงสีเขียว ดังนั้นถือว่ายังมีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก ส่วนผู้ป่วยเด็กอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป สามารถรักษาแบบ HI ได้ โดยประสานไปที่โทร. 1330

 

สำหรับความสามารถในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ของ HI ในกทม. สามารถรับผู้ป่วยรายใหม่ได้ถึง 5,540 คน/วัน ในขณะเดียวกัน CI มีทั้งหมด 31 แห่ง เตียง 3,981 เตียง มีการครองเตียง 2,065 เตียง นอกจากนี้อยู่ระหว่างเตรียมเปิด CI อีก 9 แห่ง รวม 970 เตียงด้วย

 

"ขอความร่วมมือประชาชน ดูแลป้องกันตนเอง ปฏิบัติตนตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข รับการฉีดวัคซีน ตามระยะเวลาที่เหมาะสม ถ้ามีผล ATK เป็นบวกไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ สามารถเข้าสู่ระบบการรักษา โทร 1330 ได้เลย" นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

 

จากนั้นวันที่ 22 ก.พ.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ถึงชัดเจนการประกาศยกระดับแจ้งเตือนของกระทรวงสาธารณสุข เป็นระดับ 4 ว่า ไม่ได้ยกระดับ อยู่ระดับนี้มาตั้งนานแล้ว และเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาประกาศลดระดับจาก 5 เหลือ 4 โดยการแจ้งเตือนระดับ 4 เป็นแนวทางสำหรับปฏิบัติ หากเราสามารถเว้นระยะห่าง ทำงานจากที่บ้าน ลดการสังสรรค์ ก็จะเป็นเรื่องดี เปรียบเหมือนเป็นการเตือนว่าเริ่มมีอาการความดัน แล้วให้ลดอาหารเค็ม แต่ถ้ายังกินต่อ ก็จะออกอาการเป็นโรคไต หรือความดันสูง นำไปสูงการห้ามหรือควบคุมอาหาร

 

เมื่อถามย้ำว่า เริ่มมีข้อสงสัยว่าอาจจะต้องล็อกดาวน์หรือต้องเพิ่มมาตรการอะไรหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ใจเย็นๆ ประเทศอื่นทั่วโลก กราฟผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงกว่าประเทศเรา แต่เขาผ่อนคลาย ส่วนเราก็ต้องหาทางที่ดีที่สุด เดินทางสายกลาง ซึ่งเชื้อโอมิครอนติดง่าย หายเร็ว ความรุนแรงของโรคไม่เหมือนสายพันธุ์อื่น

ผู้สื่อข่าวถามว่าในการประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ทางกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอเพิ่ม หรือปรับมาตรการอย่างไรหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องมาตรการต่างๆ ทางศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้นำเสนอ โดยพิจารณาให้เกิดความสะดวกกับประชาชนทุกคน เป็นการเสนอตามวาระปกติ และอาจจะมีการเสนอเรื่องมาตรการการเข้าประเทศที่ต้องตรวจ RT-PCR ในวันที่ 5 ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ โดยแนวโน้มอาจจะลดการตรวจRT-PCR ในวันที่ 5 เพราะดูแล้วอาจจะไม่เกิดประโยชน์ ขณะที่การควบคุมโรคยังดีอยู่และการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศไม่ได้มาจากต่างประเทศ