"ภูเก็ต"จังหวัดแรกชงขอนำร่องโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ลดกักตัวเหลือ 5 วัน

21 ก.พ. 2565 | 12:58 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2565 | 20:18 น.

"ภูเก็ต"ชงขอนำร่องโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เป็นจังหวัดแรก งดแจงตัวเลขผู้ติดเชื้อสีเขียว พร้อมขอลดเวลากักตัวผู้ติดเชื้อจาก 10 วัน เหลือ 5 วัน

นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตอยากเสนอตัวเป็นจังหวัดนำร่องประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งต้องมีเกณฑ์วัด ต้องมีผู้ป่วยติดเชื้อไม่เกินร้อยละ1 ผู้เสียชีวิตไม่เกินร้อยละ 0.1 หรือ อาจจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กระทรวงกำหนด

รวมถึงขอลดเวลากักตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 จาก 10 วันแบ่งเป็น 5:5 แบ่งเป็น 5 วันแรกกักตัวที่บ้านหรือฮอสพิเทลหรือ รพ.การรักษาตามอาการและอีก 5 วันหลังสามารถกลับไปทำงานได้แต่ยังคงมาตรการป้องกันตัวเอง เพื่อแก้ไขการลางานที่นานเกินไป

 

ขณะเดียวกันอยากเสนอขอเป็นจังหวัดนำร่องยกเลิกการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อประจำวัน ยังคงรายงานเฉพาะการติดเชื้อกรณีผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง สีดำ เท่านั้นเพื่อไม่ต้องกังวลกับการติดเชื้อที่รายงาน RT-PCR

 

“คิดว่าความกังวลจะลดลงหันมาฟื้นฟูเศรษฐกิจกัน แต่ตอนนี้ยังคงต้องทำตามสถานการณ์ เชื่อว่า ภูเก็ต มีความพร้อมเป็นจังหวัดนำร่อง”

 

ที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ตมีความภูมิใจที่เดินหน้าภูเก็ตแซนด์บอกซ์มาได้ตลอด ไม่เคยล้มโครงการ และเมื่อวันที่ 1 ก.พ.65 เริ่มโครงการ Test & Go เข้ามาภูเก็ต ซึ่งยอมรับว่า พบปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานหลายปัญหา ซึ่งทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนพยายามช่วยกันหาแนวทางแก้ไข

เช่น ปัญหาขีดความสามารถการตรวจหาเชื้อที่สนามบิน ซึ่ง ภูเก็ต ยังยืนยันกับท่าอากาศยานภูเก็ต ยังตรวจหาเชื้อกับผู้เดินทางเข้ามาที่สนามบินเหมือนเดิม ทำให้เกิดการติดขัดแออัดที่สนามบินโดยเฉพาะสายการบินที่ดีเลย์และมากระจุกกันอยู่อาจทำให้เกิดการแออัดและตรวจกันไม่ทัน เป็นปัญหาใหม่ แก้ไขกันหลายขั้นตอนจนสามารถแก้ปัญหาได้

 

ปัญหาเปลี่ยนระบบการเข้าประเทศ จาก ระบบ COE เป็น ไทยแลนด์พาส ระบบการจองที่พักเดิมใช้ SHABA จองแล้วภูเก็ตรับทราบมีนักท่องเที่ยวจองเข้ามาได้จัดรถไปรอรับที่สนามบิน แต่พอไม่มี SHABA ปลายทางไม่รับรู้จึงไม่จัดรถไปรับ ทำให้นักท่องเที่ยวต้องขึ้นแท๊กซี่กลายเป็นไม่ซีลรูท ไม่มาที่พัก 

 

แต่ไปที่อื่นเป็นปัญหาที่จะต้องหาแนวทางป้องกันปัญหาการอนุมัติไทยแลนด์พาสเข้าภูเก็ตมอบให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 (สคร.11 ) พิจารณาอนุมัติได้ แต่มีปัญหาเรื่องการประกันภัยไม่สามารถอนุมัติได้ ทำให้การอนุมัติล่าช้า ทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ตั้งทีมเป็นคอลเซ็นเตอร์เแก้ไขปัญหากันมา

 

ปัญหาประกันภัยไม่ครอบคลุมการป่วยเล็กน้อยเคลมค่าใช้จ่ายไม่ได้นักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อจึงออกมาเดินบนถนน เพราะฮอสพิเทลเต็ม ทางหน่วยงานต่างๆหารือกันให้โรงแรมจัดห้อง รองรับคนติดเชื้อ ร้อยละ 5 เป็นโฮเทลรูมไอโซเลชั่น และโฮเทลไอโซเลชั่น แก้ไขปัญหากรณีประกันภัยไม่ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วย

 

ปัญหาแล็บตรวจ RT-PCR ไม่เพียงพอ และนักท่องเที่ยวบางคนมีการปลอมเอกสารในการขอเดินทางเข้ามา บางคนไม่มีผลตรวจ RT-PCR ได้ถูกรีเจคกลับประเทศต้นทาง

 

“ปัญหานักท่องเที่ยวต่างชาติติดเชื้อสูงยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกคือ ติดเชื้อที่เดย์ศูนย์ร้อยละ 1.5-2 -3 และการตรวจครั้งที่สองพบติดเชื้อสูงร้อยละ 4 เป็นปัญหาที่เข้ามาติดเชื้อส่วนใหญ่ เรื่องนี้ได้หารือกับ ศบค.ได้กำชับสายการบิน ขณะนี้ยังลดลงไม่มากยังเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเต็มที่

 

อยากบอกทุกคนว่าภูเก็ตเป็นเมืองปลอดภัยกับทุกคน มีศักยภาพมีทรัพยากรเพียงพอดูแลคนติดเชื้อ ทั้งคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยวที่เข้ามา เราเร่งวัคซีนเข็ม3-4 รวมเด็กอายุ5-11ปี อาจได้จำนวนผู้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

รวมทั้งมีมาตรการยูนิเวอร์แซล พรีเวนชั่น มาตรการโควิดในสถานประกอบการ มาตรการทางสังคม มาตรการทางกฎหมาย การตักเตือนนักท่องเที่ยวที่ไม่สวมหน้ากากในที่สาธารณะ ตักเตือน จับ ปรับ และ คลืนิกอุ่นใจ กับการดูแลเฉพาะผู้ป่วยโควิด มีคนเข้ารับบริการทุกวัน

 

ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยง 607 เท่านั้น ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวให้รักษาตามอาการที่บ้าน และกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง กักตัวที่ บ้านหรือ LQ มีแพทย์พยาบาลดูแลวินิจฉัยเป็นรายไป

 

สำหรับข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดภูเก็ต ประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในภูเก็ต จำนวน 549 ราย Phuket Sandbox จำนวน 67 ราย Test & Go จำนวน 49 ราย รวม 665 ราย