เปิดประวัติ ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ อดีตนักแสดงดังติดโควิดเสียชีวิตในวัย 88 ปี

19 ก.พ. 2565 | 17:33 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2565 | 00:44 น.
11.7 k

เปิดประวัติ "ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ" อดีตพิธีกร-นักพากย์-นักร้อง-นักแสดง ติดโควิด-19 เสียชีวิตในวัย 88 ปี “เหมี่ยว-ปวันรัตน์” เล่านาทีสูญเสียคุณพ่อ หลังเข้ารับการรักษาตัวตามขั้นตอนที่รพ.ได้ประมาณ 1 สัปดาห์

"ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ" ใน วัย 88 ปี คุณพ่อของ เหมี่ยว-ปวันรัตน์ นาคสุริยะ ได้เสียชีวิตลง ด้วยอาการติดเชื้อโควิด-19 โดยเชื้อลงปอด ถือเป็นการสูญเสียคนในวงการบันเทิงไทยอีกราย 

 

ทั้งนี้ เหมี่ยว-ปวันรัตน์ นาคสุริยะ ซึ่งเป็นบุตรสาวของ ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ เล่าถึงการจากไปของคุณพ่อว่า "คุณพ่อติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาตัวตามขั้นตอนที่โรงพยาบาลมาได้ประมาณเกือบ 1 สัปดาห์ แต่คุณพ่อมีโรคประจำตัวและอายุมาก จึงทำให้การรักษาไม่สำเร็จ เชื้อกระจายลงปอด และท่านก็เสียชีวิตเมื่อเวลา 04.00 น.ที่ผ่านมา"

เหมี่ยว-ปวันรัตน์ บอกว่า ครอบครัวจะทำพิธีฌาปนกิจคุณพ่อในช่วงบ่ายวันนี้ (19 ก.พ.2565) เนื่องจากเสียชีวิตด้วยโควิด การจัดการพิธีศพจำเป็นต้องทำตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณะสุข 
ทั้งนี้พิธีฌาปนกิจจะจัดขึ้นที่ วัดภานุรังสี บางพลัด กรุงเทพฯ

 

สำหรับประวัติ ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ นั้น เป็นทั้งนักร้อง นักแสดง นักพากย์ พิธีกรรายการโทรทัศน์ที่มีผลงานที่เป็นที่รู้จักของหลาย ๆ คนคือ พิธีกรรายการ "นาทีทอง" และ "ประตูดวง" ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในขณะนั้น 

ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ จบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่าง สาขาจิตรกรรม รุ่นเดียวกับ สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ เมื่อปี 2499

 

จากนั้นได้เรียนต่อคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นเดียวกับนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และ กำธร สุวรรณปิยะศิริ ก่อนรับราชการที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทั่งสมัครเป็นนักร้องกับ ชาลี อินทรวิจิตร

 

ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ เข้ารับราชการเป็นครูอยู่ 5 ปี จึงลาออกมาเป็น โฆษกที่สถานีวิทยุ วปถ.1 (วิทยุทหารสื่อสารประจำถิ่น) และในปี 2507 สมัครสอบเป็นผู้ดำเนินรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ช่องขาวดำในอดีต) และไปเป็นผู้ช่วยพิธีกรรายการป็อปท็อป ทางช่อง 5 ซึ่งมี พ.อ.การุณ เก่งระดมยิง เป็นพิธีกร 


กระทั้ง ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินรายการทางช่อง 7 เป็นอันดับหนึ่ง ด้วยน้ำเสียงทุ้มเป็นเอกลักษณ์และมีท่าทางเป็นธรรมชาติ มีหน้าที่ทั้งเป็นผู้พากย์หนัง พากย์รายการมวย พูดโฆษณาสินค้า เป็นโฆษกการตัดสินรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ขณะเดียวกันก็ยังเป็นนักร้อง และจัดรายการพิพิธภัณฑ์ดารา และรายการเพลงสุนทราภรณ์ เมื่อปี 2517


ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ เป็นพิธีกรรายการเกมโชว์ "นาทีทอง" ช่วงเที่ยงวันอาทิตย์ และ "ประตูดวง" ช่วงเย็นวันอาทิตย์ แทน อาคม มกรานนท์ พิธีกรคนเดิมที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ทั้ง 2 รายการเป็นรายการที่มียอดผู้ชมสูงสุด และสร้างชื่อเสียงให้กับธรรมรัตน์เป็นอย่างมาก


ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ ลาออกจากช่อง 7 ในปี 2528 เพื่อไปทำงานการเมืองกับกลุ่มรวมพลังของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ลงสมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) เขตลาดพร้าว 2 สมัย โดยในสมัยที่ 2 ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภา กทม. คนที่ 1 

                                           ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ


ธรรมรัตน์ ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ สาขานักพากย์ยอดเยี่ยม จากผลงานพากย์หนังชุด บิ๊กซินีม่า ทางช่อง 7 ในปี 2537 และรับรางวัลพิธีกรโทรทัศน์ยอดเยี่ยม รางวัลเมขลาในปี 2538 จากรายการ 20 คำถาม 


จากนั้นจึงเลิกผลิตรายการโทรทัศน์และเลิกเล่นการเมือง และหันไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จนจบการศึกษาในปี 2541


ต่อมา ธรรมรัตน์ จึงออกตระเวนเดินสายร้องเพลง และจัดรายการวิทยุภาคภาษาไทย ที่ ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา จากนั้นในปี 2543 ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กทม. แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง 


ช่วงที่ ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ กลับมาใช้ชีวิตในประเทศไทย ได้ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมชื่อ เอเชียน วิชั่น แชนแนล และรับงานพากย์ภาพยนตร์ และร้องเพลง จนสุขภาพมีปัญหาจึงห่างเหินจากวงการ

 

ด้านครอบครัว ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ เป็นบิดาของ เหมี่ยว-ปวันรัตน์ นาคสุริยะ นักแสดงชื่อดัง


 
ผลงานการแสดงของ ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ :


เทวดาเดินดิน (2519)


เมืองขอทาน (ขี้กลากคอนกรีต) (2521)


อะไรกันวะ (2521)


อีแต๋น ไอเลิฟยู (2527)


นักเพลงผู้ยิ่งใหญ่ (2527)


ตุ๊กตาทองหลังโลงศพ (2530)


ล่าระเบิดเมือง (2542)


สุริโยไท (2544)


 
ผลงานละครโทรทัศน์ :  

 

ชาวเขื่อน ช่อง 7 (2524)


ปมรักนวลฉวี ช่องไอทีวี (2546)
 
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ :


พ.ศ. 2535 : เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)


พ.ศ. 2533 : เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)