บอร์ด สปสช. เคาะขอ งบพ.ร.ก.กู้เงินฯ 5.1 หมื่นล้านจ่ายชดเชยบริการโควิด

19 ก.พ. 2565 | 17:10 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2565 | 00:14 น.

บอร์ด สปสช. เห็นชอบข้อเสนองบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ รวม 5.1 หมื่นล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 โดยคำนวณตามต้นทุนค่าบริการใหม่

19 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอวงเงินงบประมาณค่าบริการโควิด-19 ที่จะขอรับจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพื่อจ่ายชดเชยบริการโควิดระหว่างเดือน ธ.ค. 2564 ถึงเดือน ก.ย. 2565 ยอดวงเงินรวมทั้งสิ้น 51,065.13 ล้านบาท โดยมอบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอขอรับงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ และรายงานต่อบอร์ด สปสช. รับทราบ

 

โดยยอดที่จะเสนอขอรับงบประมาณสำหรับค่าบริการโควิด-19 จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่

 

1.ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 ถึง ก.พ. 2565 ระยะเวลา 3 เดือน รวม 34,528.87 ล้านบาท เป็นการคำนวณตามอัตราจ่ายค่าบริการโควิด-19 เดิม โดยเดือน ธ.ค. 2564 และ ม.ค. 2565 จะใช้ยอดค่าใช้จ่ายจริงที่ได้ประมวลผลจ่ายแล้ว ขณะที่เดือน ก.พ. 2565 จะประมาณการจากค่าใช้จ่ายจริงและจำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยย้อนหลังตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ถึงปัจจุบัน

2.เดือน มี.ค. 2565 ถึง ก.ย. 2565 ระยะเวลา 7 เดือน รวม 16,536.26 ล้านบาท เป็นข้อเสนอวงเงินตามอัตราจ่ายค่าบริการโควิด-19 ใหม่ แบ่งเป็น ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 จำนวน 9,699.55 ล้านบาท, ค่าบริการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19

 

การดูแลรักษาอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน จำนวน 6,104.07 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายจากการรับบริการวัคซีนโควิด-19 หรือจากการให้บริการโรคโควิด-19 จำนวน 732.64 ล้านบาท

ด้านนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า การเสนอขอรับงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพื่อจ่ายชดเชยบริการโควิดนับตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. - ก.ย. 2565 เป็นการคำนวณอยู่บนการคาดการณ์ว่าสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะลดความรุนแรงลง ควบคู่กับการปรับต้นทุนการจ่ายชดเชยค่าบริการโควิด-19 ที่ลดลง ตามมติบอร์ด สปสช. ที่มีการเห็นชอบเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และลดภาระงบประมาณของประเทศ

 

ขณะที่ในส่วนของรายการจ่ายที่มีการปรับ เช่น การตรวจคัดกรองด้วยวิธี ATK Professional ได้ปรับอัตราจ่ายใหม่จากวิธี Chromatography 300 บาท และวิธี FIA 400 บาท เป็น 250 และ 350 บาทตามลำดับ ส่วนอัตราค่าตรวจ RT-PCR ประเภท 2 ยีน จากเดิม 1,300 บาท เหลือ 900 บาท ส่วน ประเภท 3 ยีน จากเดิม 1,500 บาท เหลือ 1,100 บาท 

 

นอกจากนี้ยังมีการปรับอัตราจ่ายค่าห้องที่ดูแลการรักษา ปรับลดอัตราจ่ายอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เป็นต้น ทำให้ภาพรวมในช่วง 7 เดือนหลังจากนี้ คาดการณ์งบประมาณจะลดลงไปได้กว่า 1,729.89 ล้านบาท