สปสช.ย้ำประชาชนยังรักษาฟรี แม้ถอดโควิดออกจากโรคฉุกเฉิน

14 ก.พ. 2565 | 11:38 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2565 | 18:49 น.
2.7 k

เลขาฯสปสช. ชี้ถอนโควิด-19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤติ ไม่ได้หมายความว่า"หมดสิทธิรักษาฟรี ยืนยันประชาชนยังได้รับการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม เพียงแค่กลับมาเข้าช่องทางการรักษาตามปกติ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็ไปรับบริการได้ หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินวิกฤติรักษาทุกที่ (UCEP) มาเป็นการรักษาตามสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคลว่า การออกประกาศเป็นอำนาจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการปลดโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

 

แต่หากมีการประกาศออกมา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รักษาแล้ว ดังนั้น การที่ใช้คำว่า"หมดสิทธิรักษาฟรี" จึงไม่ถูกต้อง ตนขอยืนยันว่ายังรักษาฟรีและรักษาฟรีทุกโรคไม่เฉพาะแค่โควิด 


นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจหลักการระบบสาธารณสุขของไทยก่อนคือ 1.เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมี เช่น สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ และ 2.หากมีอาการฉุกเฉิน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน

สปสช.ย้ำประชาชนยังรักษาฟรี แม้ถอดโควิดออกจากโรคฉุกเฉิน

 

 

กรณีของโควิด-19 นั้นตั้งแต่ปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าการป่วยเป็นโรคโควิด-19 ถือเป็นเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากในช่วงแรกจนถึงช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า มีความกังวลว่าเมื่อป่วยแล้วเชื้อจะลงปอด ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จึงต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินเพื่อให้รีบนำผู้ป่วยเข้าไปรักษาให้เร็วที่สุด

 

อย่างไรก็ดี สายพันธุ์หลักที่ระบาดในขณะนี้คือสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งผู้ป่วย 80-90% แทบไม่มีอาการ สามารถรักษาตัวที่บ้านในระบบ Home Isolation ได้ หรือมีเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ไม่มีเหตุที่ต้องรีบเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

 

ดังนั้นหากมีการประกาศให้โรคนี้ไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน ผู้ป่วยก็สามารถไปรับการรักษาพยาบาลได้ตามระบบปกติ เช่น หากใช้สิทธิบัตรทอง จะมีหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ ผู้ป่วยสามารถไปรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหากเข้าระบบการดูแลแบบ Home Isolation สปสช.ก็ยังดูแลค่าใช้จ่ายให้เหมือนเดิม

 

"ดังนั้น ไม่ว่าจะประกาศว่าฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน ประชาชนก็ยังได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะบัตรทองรักษาทุกโรคอยู่แล้ว" นพ.จเด็จ กล่าว

 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในกรณีเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบสุขภาพใดระบบสุขภาพหนึ่ง ในอดีตประชาชนสามารถไปได้เฉพาะในภาวะฉุกเฉินวิกฤติ ซึ่งเมื่อโรคโควิด-19 ถูกประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ก็หมายความว่าผู้ป่วยสามารถไปรักษาในโรงพยาบาลประเภทนี้ได้ แต่หากต่อจากนี้ไปโรคนี้ไม่ได้ถูกประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉินแล้ว

 

ขอแนะนำให้ไปรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบของสิทธิสุขภาพตามระบบปกติ เพราะหากไม่มีอาการฉุกเฉินแล้วไปโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบ กองทุนสุขภาพต่างๆจะไม่ได้เข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายให้

 

นพ.จเด็จ ย้ำว่า การจะเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนนั้นให้ดูอาการเป็นหลัก หากป่วยเป็นโควิดแล้วมีอาการฉุกเฉินด้วย เช่น มีไข้สูง หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย ความดันต่ำ ไม่ค่อยรู้สึกตัว รู้สึกจะเป็นลม ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบได้ด้วยอาการฉุกเฉินวิกฤตินั้น ทางกองทุนสุขภาพของผู้ป่วยรายนั้นๆจะตามไปดูแลให้ 

 

"สรุป ประชาชนถ้าป่วยด้วยโรคโควิด-19 หากไปเข้ารักษาตามระบบตามสิทธิสุขภาพของตนก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเหมือนเดิม แต่หากไปโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในระบบและไม่มีอาการฉุกเฉิน ทางกองทุนสุขภาพจะไม่ได้เข้าไปดูแลแล้ว" นพ.จเด็จ กล่าว