ชวนชม ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี 2565 รุ่งเช้า 9 ก.พ.นี้ ห้ามพลาด!

08 ก.พ. 2565 | 17:15 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2565 | 19:38 น.
14.5 k

NARIT ชวนชมปรากฎการณ์ ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี 2565 หรือ The Greatest Brilliancy มองเห็นด้วยตาเปล่า รุ่งเช้าวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 พลาดปีนี้ได้เห็นอีกที 10 ก.ค. 66

8 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รุ่งเช้าของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 จะเกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกจะเกิดขึ้นรุ่งเช้าของวันที่ 9 ก.พ.2565 ตั้งแต่เวลา 04.20 น.เป็นต้นไป  

 

ทั้งนี้ เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565

 

รุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดในรอบปี (The Greatest Brilliancy) สว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 04:20 น. เป็นต้นไป จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า

ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม มีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับในช่วงวันอื่นๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่ห่างจากโลก และขนาดปรากฏที่ลดลง ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย

 

ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า และเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ มีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ตำแหน่งของดาวศุกร์ที่ปรากฏบนท้องฟ้าจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เกิน 47 องศา

เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าหรือก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือเวลากลางดึก หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า "ดาวประจำเมือง" แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยจะเรียกว่า "ดาวประกายพรึก"

 

สำหรับปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งถัดไป จะเกิดขึ้นในปีหน้า ช่วงค่ำวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า

 

ชวนชม ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี 2565 รุ่งเช้า 9 ก.พ.นี้ ห้ามพลาด!

ที่มา : เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ