ติดโควิด กักตัวที่บ้าน ต้องปฏิบัติอย่างไร?

11 ม.ค. 2565 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2565 | 17:41 น.

ติดเชื้อโควิด-19 กักตัวที่บ้าน ต้องปฏิบัติอย่างไร? สธ.ชี้ผู้ติดเชื้อโอมิครอน 48% จะไม่มีอาการ จึงเน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน (HI/CI) เป็นหลัก

ศูนย์ข้อมูล COVID-19  ทำอินโฟกาฟิกแนะนำ ติดเชื้อโควิด กักตัวที่บ้าน ปฏิบัติอย่างไร? ดังนี้

 

1. ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยม

 

2. อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา

3. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ/เจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ

 

4. ให้นมบุตรได้ (กรณีมารดาให้นม)

 

5. ทำความสะอาดห้องน้ำ & โถสุขภัณฑ์ ด้วยน้ำและ โซเดียมไฮโปคลอไลด์ 5%

 

6. ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น

 

7. ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น

 

8. ทิ้งหน้ากากอนามัย & ขยะปนเปื้อน ในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง

 

**วัดไข้ และออกซิเจนในเลือดทุกวัน

 

ติดโควิด กักตัวที่บ้าน ต้องปฏิบัติอย่างไร?

 

ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.65 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีย์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกันแถลงแผนการรับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ระลอกมกราคม 2565

 

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกนี้ ประเทศไทยมีการติดเชื้อสูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตลดลงเหมือนกับทั่วโลก เชื่อว่าจะบริหารจัดการให้เข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ภายในปีนี้ เนื่องจากตัวเชื้อมีความรุนแรงลดลง ประชาชนร่วมมือกันฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การชะลอการแพร่ระบาดได้วางมาตรการรับมือ 4 มาตรการ คือ

 

1.มาตรการสาธารณสุข โดยเพิ่มการฉีดวัคซีน ตรวจคัดกรองด้วย ATK และติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์

 

2.มาตรการทางการแพทย์ ใช้การดูแลที่บ้านหรือชุมชน (Home Isolation/ Community Isolation : HI/CI) เป็นลำดับแรก โดยสนับสนุนทั้งยา เวชภัณฑ์ มีระบบส่งต่อหากมีอาการรุนแรงขึ้น และมีระบบสายด่วนรองรับ

 

3.มาตรการทางสังคม โดยเน้นป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา รักษาระยะห่างใส่หน้ากาก ล้างมือ เลี่ยงไปสถานที่เสี่ยง สถานประกอบการใช้มาตรการ COVID Free Setting

 

4.มาตรการสนับสนุน เช่น ค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่างๆ ที่มีความเหมาะสม

         

“ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้มาตรการ VUCA คือ Vaccine ฉีดวัคซีน Universal Prevention ป้องกันตนเองกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา COVID Free Setting และตรวจ ATK ซึ่งถ้าประชาชนร่วมกันฉีดวัคซีน เชื้อไม่กลายพันธุ์เพิ่ม และการติดเชื้อไม่มีลักษณะรุนแรงมากขึ้น คาดว่าการติดเชื้อระลอกนี้ที่เป็นสายพันธุ์โอมิครอนจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนแล้วค่อยลดลง น่าจะเป็นโรคประจำถิ่นได้ภายในปีนี้” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอน 48% จะไม่มีอาการ จึงเน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน (HI/CI) เป็นหลัก โดยผู้ติดเชื้อที่ตรวจจากสถานพยาบาลหรือหน่วยบริการเชิงรุกจะได้รับการประเมินอาการทันที ส่วนการตรวจ ATK ด้วยตนเอง ต้องติดต่อสายด่วน 1330 หรือช่องทางที่ สปสช.เตรียมไว้ หรือติดต่อศูนย์ปฏิบัติการของแต่ละจังหวัด โดยผู้ติดเชื้อจะได้รับการติดต่อกลับเพื่อประเมินอาการ หากไม่มีอาการหรืออาการไม่มากจะให้ดูแลที่บ้าน หากไม่สามารถทำได้จะให้ไปดูแลที่ชุมชน และถ้าเริ่มมีอาการแพทย์จะจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ตามดุลพินิจ ซึ่งการได้รับยาหลังมีอาการไม่เกิน 3-4 วันจะได้ผลดี

 

ทั้งนี้ หากผู้ติดเชื้อมีอาการมากขึ้น เช่น เด็กมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง ผู้ใหญ่มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียสมากกว่า 24 ชั่วโมง หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% หรือโรคประจำตัวมีอาการรุนแรงขึ้น หรือแพทย์เห็นว่ามีความเสี่ยง ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังฮอสปิเทล โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลักต่อไป ภาพรวมใช้เวลารักษา 10 วัน สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี หากผลตรวจเป็นบวก ขอให้ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการทุกราย โดยกรมการแพทย์ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้จัดทีมกุมารแพทย์เป็นที่ปรึกษาในการประเมินอาการซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกคน ขึ้นกับการประเมินอาการแรกรับ

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีย์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า  ผู้ที่มีผลตรวจโควิด 19 เป็นบวก สามารถติดต่อเข้าสู่ระบบการรักษาได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ สายด่วน 1330 ต่อ 14 ตลอด 24 ชั่วโมง, เว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th เพื่อกรอกข้อมูลและแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ และแอปพลิเคชันไลน์ โดยการเพิ่มเพื่อน @nhso จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา หากไม่มีข้อห้าม เช่น ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ จะได้รับคำแนะนำให้เข้าระบบการรักษาแบบ HI/CI มีบุคลากรทางการแพทย์ติดตามอาการ

 

ทั้งนี้ ระบบสายด่วน 1330 รองรับสายเข้าพร้อมกันได้ทั้งหมด 3,000 สาย มีเจ้าหน้าที่รับสายจำนวน 300 คน ตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ ซึ่งระยะต่อไปหากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จะเพิ่มจำนวนบุคลากรรองรับให้เพียงพอต่อการให้บริการ โดยข้อมูล 24 ชั่วโมงล่าสุด มีผู้โทรศัพท์เข้ามาขอเตียงทั้งหมด 1,054 ราย จากสายทั้งหมด 8,000 ราย และยังได้เตรียมทดลองระบบหากมีผู้โทรเข้าพร้อมกันจำนวน 20,000 สายด้วย จึงขอให้มั่นใจว่าจะสามารถให้บริการได้โดยไม่มีสายตกค้างหรือตกหล่น